xs
xsm
sm
md
lg

EMC-W7 มาแปลก ราคาแรงแซงหุ้นแม่ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แรนต์ แม้จะเป็นตราสารที่หมดจากความนิยมไปแล้ว แต่บริษัทจดทะเบียนบางแห่งยังใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นราคาหุ้นหรือสร้างแรงจูงใจในการขายหุ้นเพิ่มทุนอยู่

ล่าสุด บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC แจ้งมติกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา โดยออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 8,434.04 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 7 สตางค์

และออกวอร์แรนต์รุ่นที่ 7 หรือ EMC-W7 แจกฟรีผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์ โดยวอร์แรนต์มีอายุ 3 ปี กำหนดราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญในราคา 13 สตางค์

ผลการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน ปรากฏว่า มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิจองซื้อเพียง 4,136.58 ล้านหุ้น ไม่ถึง 50% ของหุ้นเพิ่มทุนที่นำออกเสนอขายทั้งหมด ทั้งที่โครงสร้างผู้ถือหุ้น EMC มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นเกิน 5% ของทุนจดทะเบียนรวมกันประมาณ 58% ของทุนจดทะเบียน

สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ กลุ่มนายชินชัย ลีนะบรรจง ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 19.90% บางคน หรือหลายคน หรือเป็นไปได้ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งหมดสละสิทธิไม่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยใส่เงินเข้ามาประมาณเกือบ 300 ล้านบาท

การที่บริษัทจดทะเบียนประกาศเพิ่มทุน แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ยอมจองซื้อหุ้น เป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายการหลอกลวงผู้ถือหุ้นรายย่อย เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้ผลักดันมติเพิ่มทุน แต่กลับให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเติมเงินเข้าบริษัทแต่ฝ่ายเดียว

ผู้ถือหุ้นรายย่อยถือเป็นเจ้าทรัพย์ช่วยกันใส่เงินเสริมสภาพคล่องให้บริษัท แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลายเป็นผู้นำเงินของรายย่อยไปใช้สบาย และเงินที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยใส่เข้าไป สุดท้ายถูกย่อยสลาย โดยไม่มีผลตอบแทนคืนกลับผู้ถือหุ้นรายย่อย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ ควรจะทบทวนหลักเกณฑ์การเพิ่มทุนใหม่ โดยบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มทุนจะต้องรายงานผลการเสนอขายหุ้น โดยระบุให้ชัดเจนว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยและรายใหญ่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นคนละเท่าไหร่

กำหนดรายละเอียดสัดส่วนการจองซื้อของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนใดเพิ่มทุนแหกตา หลอกต้มให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลับไม่ยอมจองซื้อแม้แต่หุ้นเดียว

สังคมจะได้ร่วมรุมประณามผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เพิ่มทุนหลอกตุ๋นเงินนักลงทุนรายย่อย

หุ้นหลายตัวที่กลุ่มนายชินชัย ลีนะบรรจงถือหุ้นใหญ่ ล้วนเคยเป็นหุ้นร้อนในอดีต ปัจจุบันตกอยู่ในสภาพหุ้นตายซาก ไม่ว่าจะเป็น EMC หุ้นบริษัท แคปปิทอล เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ CEN หุ้นบริษัท ระยองไวร์ อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RWI

EMC มีปัญหาด้านฐานะการเงิน โดยส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ต่ำกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน และถูกขึ้นเครื่องหมาย C ตั้งแต่ปี 2565 ขณะที่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง จนมียอดขาดทุนสะสม 3,173 ล้านบาท ส่วนราคาหุ้นแน่นิ่งอยู่แถว 9 สตางค์มาพักใหญ่แล้ว

ผู้ถือหุ้นรายย่อย EMC มีจำนวนทั้งสิ้น 9,592 ราย ซึ่งเชื่อว่าจะติดหุ้นราคาสูงมายาวนาน และทำใจตัดขาดทุนไม่ไหว ส่วนการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด เชื่อว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน

ผู้บริหาร EMC ขยันในการออกวอร์แรนต์ โดย EMC-W6 เพิ่งหมดอายุไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมปี 2566 โดยมีจำนวน 4,216.58 ล้านหน่วย ราคาแปลงสภาพ 15 สตางค์ แต่มีผู้สิทธิแปลงสภาพเพียง 2.69 แสนหน่วยเท่านั้น

EMC-W6 เริ่มต้นจากศูนย์ แจกฟรีผู้ถือหุ้น สุดท้ายจบลงที่ศูนย์ เพราะแทบไม่มีใครนำไปแปลงสภาพ

ส่วน EMC-W7 เพิ่งเข้าซื้อขายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ราคาเคลื่อนไหวระหว่าง 9-11 สตางค์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมปิดที่ 10 สตางค์ สูงกว่าหุ้นตัวแม่ที่ปิด 9 สตางค์

ปรากฏการณ์วอร์แรนต์วิ่งแรงแซงราคาหุ้นตัวแม่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ราคา EMC-W7 จึงเป็นเรื่องที่แปลก จนต้องสงสัยว่ามีใครทำอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่

เพราะนักลงทุนไม่ให้ความนิยมเก็งกำไรวอร์แรนต์กันมากนัก โดยรายย่อยเจ็บปางตายจากวอร์แรนต์ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น เจ๊งจากการเก็งกำไรจนเข็ดกันหมดแล้ว

หุ้นในกลุ่ม “ลีนะบรรจง” นอกจากเล่นยากแล้ว ยังเป็นหุ้นที่ตกอยู่ในสภาพตายซากอีกด้วย รวมทั้ง EMC-W7 ที่มาแปลก ราคาวิ่งแรงแซงหุ้นตัวแม่

แต่ไม่จำเป็นต้องเตือนความเสี่ยงหุ้นกลุ่ม “ลีนะบรรจง” เพราะนักลงทุนรู้ว่าควรหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว เว้นแต่รายย่อยที่หลงเข้าไป “ติดกับ” และหนีออกมาไม่ได้เท่านั้น








กำลังโหลดความคิดเห็น