xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ปรับแนวโน้มอุตสาหกรรมแบงก์ไทยเป็น 'มีเสถียรภาพ' จาก 'ปรับตัวดีขึ้น' รับผลเศรษฐกิจฟื้นช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอุตสาหกรรมธนาคารไทยเป็น "มีเสถียรภาพ" จากเดิม "ปรับตัวดีขึ้น" เนื่องจากฟิทช์คาดว่าอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและน่าจะจำกัดการปรับตัวดีของกำไร อัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงของภาคการส่งออกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอ ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของไทย โดยกระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศไทยลง เมื่อเดือนที่แล้วเป็น 2.4% จาก 2.8%

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน/สินทรัพย์เสี่ยงของภาคธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.9% ในปี 2566 จากระดับต่ำสุดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าที่ 1.2% ในปี 2563 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นและต้นทุนความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (credit costs) ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าการฟื้นตัวของกำไรได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว และมีโอกาสค่อนข้างจำกัดที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารหรือค่าใช้จ่ายในการกันสำรองจะปรับตัวดีขึ้นอีก อีกทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับต่ำน่าจะส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อด้วย ซึ่งขณะนี้ฟิทช์คาดการณ์ไว้ที่ 3% ในปี 2567 (ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% )

ฟิทช์มองว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของภาคธนาคารอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.5% ในปี 2567 จาก 3.3% ในปี 2566 เนื่องจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์น่าจะถูกลดทอนลงได้บ้างจากอัตราส่วนสำรองหนี้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของภาคธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 173% ในไตรมาส 1/2567 อีกทั้งระดับเงินกองทุนหลักซึ่งแสดงได้จากอัตราส่วนระดับเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 16.0% ในไตรมาส 1/2567 จะช่วยรองรับความเสี่ยงเชิงลบได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงดังกล่าวมีส่วนช่วยสนับสนุนความแข็งแกร่งของโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเองซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Ratings หรือ VR) นอกจากนี้ อันดับเครดิตของธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบทั้ง 6 ธนาคารของประเทศไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Ratings) หรืออันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (Shareholder Support Rating) ซึ่งอยู่ในระดับที่เท่ากันหรือสูงกว่า VR ของธนาคารเหล่านี้ ดังนั้น โอกาสที่ธนาคารจะถูกปรับลดอันดับเครดิตจึงจะต้องขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในการประเมินแนวโน้มการได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปกติของฟิทช์ด้วย

ส่วนในระยะยาวสภาพแวดล้อมของการเติบโตที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องอาจเพิ่มความท้าทายเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารไทย โดยฟิทช์คาดว่าธนาคารไทยอาจจะต้องแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอื่นมากขึ้น เช่น สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในด้านโครงสร้างความเสี่ยงของธนาคารได้
กำลังโหลดความคิดเห็น