นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 มิ.ย.) ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.60-36.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมได้ชะลอลงสู่ระดับ 2.2% น้อยกว่าที่ตลาดคาด ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ล่าสุดเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.42 แสนราย แย่กว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีความหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้
ทว่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาด (Buy on Dip) หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน เงินยูโร (EUR) ทยอยอ่อนค่าลงตามตลาดหุ้นยุโรป ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสและยุโรป ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำเผชิญแรงขายต่อเนื่องและย่อตัวลงกว่า -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินได้พอสมควร คือ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ในการประชุมครั้งนี้ แม้ BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่ BOJ อาจจะส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยอาจมีการประกาศทยอยปรับลดการเข้าซื้อบอนด์ญี่ปุ่นลง ซึ่งหาก BOJ มีการส่งสัญญาณดังกล่าวได้จริง อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังต่อการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ ในปีนี้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปีนี้
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงต่อได้ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า BOJ จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ต่อแนวโน้มการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และอาจมีการประกาศทยอยปรับลดการเข้าซื้อบอนด์ ซึ่งหาก BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณดังกล่าว สวนทางกับความคาดหวังของตลาดอาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านแถว 158 เยนต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง และการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงนี้ที่มาพร้อมกับช่วงเงินยูโร (EUR) เผชิญแรงกดดันจากประเด็นการเมืองยุโรป อาจเป็นปัจจัยที่ยังหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมาเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ก็ตาม
นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่จะเป็นอีกปัจจัยสร้างความผันผวนให้เงินบาทในระยะนี้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าไปได้มากนัก และอาจยังติดอยู่ในโซนแนวต้านแถว 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 37.00 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนการแข็งค่าในช่วงนี้อาจเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้เงินบาทยังมีแนวรับแถวโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์