xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.61 โมเมนตัมอ่อนค่าชะลอลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 36.25-37.00 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (4 มิ.ย.) ที่ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 36.79 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม) โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (รวมถึงช่วงวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดของไทย) เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 36.58-36.92 บาทต่อดอลลาร์) ตามทิศทางเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ

นอกจากนี้ ล่าสุด รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ (ISM Manufacturing PMI) เดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 48.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัว) แย่กว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง โดยผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่าเฟดมีโอกาสราว 65% ในการลดดอกเบี้ย “2 ครั้ง” ในปีนี้ (จากเดิมตลาดให้โอกาสราว 40% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงตามคาดในวันศุกร์ที่ผ่านมา) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง ส่วนราคาทองคำปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด ส่วนสัปดาห์นี้เราประเมินว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าได้ชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสูงไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ (ซึ่งจะผันผวนไปตามการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้) นอกจากนี้ ควรจับตาแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยได้อีกครั้ง หากบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น อนึ่ง ในส่วนแนวรับของเงินบาทนั้นจะอยู่ในโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน) ซึ่งหากเงินบาทสามารถแข็งค่าทะลุระดับดังกล่าวได้อาจเปิดโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 36.25 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ส่วนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 37 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป คือ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้จุดอ่อนค่าสุดในปีนี้)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้นเรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานว่าจะออกมา “ดีกว่าคาด” หรือ “แย่กว่าคาด” นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจผันผวนไปตามเงินยูโร (EUR) ซึ่งจะขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดว่า ECB จะลดดอกเบี้ยได้กี่ครั้งในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น