xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.57 จับตาการเมือง-ความขัดแย้ง ธปท.-รัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 มิ.ย.) ที่ระดับ 36.57 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.45-36.75 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.56-36.73 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว +20 ดอลลาร์ จากรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมที่ลดลงต่อเนื่องและออกมาแย่กว่าคาด กอปรกับดัชนีย่อยการจ้างงาน (Employment) ในภาคการบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี ISM PMI ภาคการบริการเดือนพฤษภาคม ยังอยู่ในระดับ 47.1 จุด สะท้อนถึงภาวะการจ้างงานที่หดตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดมีโอกาสถึง 94% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool) อย่างไรก็ดี เงินบาทไม่ได้แข็งค่าลงมาก เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.8 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้พอสมควร

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงเวลาประมาณ 19.15 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง Press Conference หลังรับรู้ผลการประชุม ECB โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ลง -25bps สู่ระดับ 3.75% และอาจมีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ (ตลาดคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการลดดอกเบี้ยในการประชุมรายไตรมาส)

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงคาดการณ์ GDP ในไตรมาสที่สอง โดย Atlanta Fed (GDPNow)

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอยู่แถวโซนเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB โดยเราประเมินว่าภาพตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นอาจช่วยชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทำให้แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอาจลดลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยเฉพาะในช่วงโซน 36.40-36.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งต้องระวังความผันผวนจากข่าวการเมืองในประเทศ (ซึ่งรวมถึงข่าวที่สะท้อนถึงความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงิน) ดังจะเห็นได้จากวันก่อนหน้าที่เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว จากข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลอาจต้องการควบคุมการทำงานของ ธปท. มากขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่าประเด็นดังกล่าวรวมถึงความวุ่นวายของการเมืองไทยจะเป็นเพียงแค่ Noise ในระยะสั้น ที่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่เราจะคอยจับตาความเสี่ยงการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB โดยปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ มุมมองของ ECB ต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย ว่า ECB จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องได้หรือไม่ ซึ่งหาก ECB ส่งสัญญาณชัดเจนว่ามีโอกาสจะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง หรือมากกว่าอาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ในทางกลับกัน หาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง และการลดดอกเบี้ยจะขึ้นกับการประเมินภาพเศรษฐกิจในช่วงการประชุมนั้นๆ เราคาดว่าเงินยูโร (EUR) อาจแกว่งตัว sideways หรือแข็งค่าขึ้นบ้าง เพราะอย่างน้อยการลดดอกเบี้ยของ ECB ที่อาจเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ไปแล้ว (fully priced-in) ทำให้ประเด็นสำคัญ คือ แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายหลังจากการประชุมในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น