นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 เม.ย.) ที่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.58-36.68 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ในช่วงแรกเงินบาทได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 36.75 บาทต่อดอลลาร์ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด อีกทั้งประธานเฟดสาขา Atlanta (Raphael Bostic) ออกมาสนับสนุนว่า เฟดควรลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทได้พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรราคาทองคำ หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ เดือนมีนาคมออกมาต่ำกว่าคาดไปมาก ส่วนถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ที่ย้ำจุดยืนว่า เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ ก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดการเงินมากนัก เนื่องจากท่าทีดังกล่าวของประธานเฟดไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและสอดคล้องกับมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ รวมถึงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด ซึ่งอาจมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ในปีนี้ได้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มชะลอลงตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และอานิสงส์ของโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ นอกจากนี้ จากการประเมินปัจจัยเชิงเทคนิคัล สัญญาณ Bearish Divergence บน USDTHB มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อประเมินจากภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทรายชั่วโมง และราย 4 ชั่วโมง ทำให้เรามองว่าเงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าลง และน่าจะยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ไปก่อนจนกว่าผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ขณะที่การกลับมาแข็งค่าขึ้นอาจยังติดโซนแนวรับ 36.45 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่า อีกทั้งผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบกลับมาเพิ่มสถานะ Long THB หรือลดสถานะ Short THB อย่างมีนัยสำคัญ จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ก่อน
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วง 18.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. เป็นต้นไป