ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกเกณฑ์ใหม่ เพื่อยกระดับคุม Naked Short Selling และกำหนดการยื่นคำขอหรือลงทะเบียนผู้ที่ซื้อขายแบบ HFT หวังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน เตรียมเสนอ ก.ล.ต. ไตรมาส 2 นี้ พร้อมเผยหุ้นปันผล 141 แห่ง คัดสรร " บจ.ที่มีผลประกอบการดี มีกำไรสุทธิ สภาพคล่องและกระแสเงินสดในการดำเนินงานตลอด 5 ปี รวมทั้งบรรษัทภิบาลระดับ “ดี” ขึ้น เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
หลังจากเกิดกรณีของการซื้อขายและไม่ชอบมาพากลของหุ้นหลายบริษัท โดยเฉพาะกรณีของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด( มหาชน) หรือ MORE ที่ยากต่อการหาจุดจบ ก็กลับเกิดซ้ำรอยและสาหัสกว่าตามมา คือกลโกงกรณีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีมูลค่ามหาศาลมากที่สุดของตลาดทุนไทย เพราะส่งผลกระทบมากมายและนำความเสียหายมาสู่นักลงทุนในวงกว้าง โดยเฉพาะนักลงทุนกว่า 2 หมื่นราย มูลค่าความเสียหายสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการตกแต่งปลอมแปลงบัญชีเท็จ หลอกลวงผู้ลงทุน และทุจริตฉ้อโกงประชาชนอย่างผิดกฎหมาย ยังผลให้นักลงทุนได้รับผลกระทบมากที่สุด
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อปี 2566 ตลท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหาและออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสกัดและหยุดยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายในระบบเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น จะเห็นว่าระยะหลังมานี้ จึงมีเกณฑ์ต่างๆ ที่ ตลท.ทยอยประกาศใช้ทั้งที่ประกาศใช้ได้เลยและต้องทำประชาพิจารณ์ หรือ public hearing ที่อาจต้องใช้เวลามากขึ้น ล่าสุด ตลท.ประกาศใช้ 2 เกณฑ์ใหม่คุมการเทรดหุ้น
ยกระดับคุม Naked Short Selling – คำสั่งเทรด HFT
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อเมื่อ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุนตามที่ได้เคยอนุมัติไว้ รวมถึงเห็นชอบแนวทางดำเนินการอื่นเพื่อพัฒนาและชูศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์การสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนี้
1) แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น มุ่งยกระดับการกำกับดูแล Naked Short Selling และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) โดยเฉพาะการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความเร็วสูง (HFT) ด้วยการ กำหนดให้ต้องมีการยื่นคำขอหรือลงทะเบียนผู้ลงทุนที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT เพื่อให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับบัญชีย่อย (Sub-Account) ของบัญชีที่ไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ (Omnibus Account)
ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบควบคุมการบริหารความเสี่ยงในการส่งคำสั่งซื้อขาย (Pre-Trade Risk Management) เพื่อตรวจสอบการมีหลักทรัพย์ของลูกค้าที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT ก่อนที่จะส่งคำสั่งขายเข้ามาในระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้งจะมีการกำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งดังกล่าว (Minimum Order Resting Time) เพื่อสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับความเร็วของการส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งจะช่วยป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการส่งคำสั่งซื้อขายทุกประเภท
ทั้งนี้ มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายดังกล่าวข้างต้นอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และคาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ภายในไตรมาส 2/567
2) แนวทางการพัฒนาและชูศักยภาพของบริษัทจดทะเบียน มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกด้วยการเก็บรวบรวมและการนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ความสามารถในการแข่งขันรายกลุ่มอุตสาหกรรม ภาวะอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มีการประกอบธุรกิจซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New Economy) อันจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของภาครัฐ ออกมาเผยแพร่และต่อยอดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ ฯ และสื่อต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่าย รวมทั้งจะให้การสนับสนุนข้อมูลและงบประมาณให้กับหน่วยงานวิจัยต่างๆ เพื่อจัดทำ Industry Analysis & Outlook Report รวมถึงจะประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง (เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย) เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน อันจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน รวมถึงกำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New Economy) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย
หุ้นปันผล ทางเลือก “ลงทุนระยะยาว”
สำหรับการลงทุนในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวนและหลายปัจจัยมากมายที่บางปัจจัยยากต่อการป้องกัน ขณะที่นักลงทุนเองประเมินหรือไม่มีเวลาตามติดการลงทุน และผลประกอบการของ บริษัทจดทะเบียนได้ทุกแห่ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.ออก SET Note ฉบับล่าสุด เรื่องหุ้นปันผล เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน สำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของบริษัทจดทะเบียนไทย สูงประมาณ 1.25 ถึง 2.25 เท่าของอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือน ดังนั้น การลงทุนในหุ้นปันผล จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนระยะยาว
จากเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ หุ้นปันผล หรือ “กลุ่มหุ้น Dividend Universe” ที่ต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีผลประกอบการดี มีกำไรสุทธิ มีสภาพคล่องในการดำเนินงานโดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวกตลอดช่วง 5 ปี และมีคะแนนบรรษัทภิบาลในระดับ “ดี” ขึ้นไป พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนผ่านเกณฑ์ 141 บริษัท จากทั้งหมด 819 บริษัท โดยอยู่ใน SET 119 บริษัท และใน mai 22 บริษัท
โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในกลุ่มธุรกิจบริการมากที่สุด คือ 33 บริษัท แต่หากเทียบกับจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมมีจำนวนบริษัทในกลุ่มหุ้น Dividend Universe ในสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่ระดับ 28%
ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มหุ้น Dividend Universe มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย 5 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 4.11% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่อยู่ที่ 2.88% โดย 43 บริษัทจากทั้งหมด 141 บริษัทมี Dividend yield เฉลี่ย 5 ปี สูงกว่า 5.00% ต่อปี และบริษัทจดทะเบียนที่มี Dividend yield เฉลี่ย 5 ปี สูงสุด 15 อันดับแรก มี Dividend yield เฉลี่ย อยู่ในช่วง 6.62% ถึง 11.57% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 8.00% ต่อปี
นอกจากนี้ ตลท. ได้ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มหุ้นปันผลโดยเผยแพร่ดัชนีราคา SET High Dividend 30 (SETHD Index) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ซึ่งคัดเลือก 30 หลักทรัพย์จาก SET100 Index ซึ่งพิจารณาจากสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอและมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง และเมื่อพิจารณาดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return Index: TRI) ของ SETHD Index พบว่า
หลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบ SETHD Index ให้ผลตอบแทนดีกว่าทั้ง SET100 Index และ SET Index เมื่อพิจารณาการฟื้นตัวของบริษัทจดทะเบียนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (วันฐาน คือ สิ้นปี 2562) โดย TRI ของ SETHD Index เติบโตเป็น 1.14 เท่าของวันฐาน ขณะที่ TRI ของ SET100 Index ลดลงเหลือเพียง 0.90 เท่า ทิศทางเดียวกับ TRI ของ SET Index ที่ลดลงเหลือเพียง 0.99 เท่า หรืออาจกล่าวได้ว่า ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา SETHD Index ฟื้นตัวได้ดีกว่าดัชนีอื่นๆ
ขณะหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบ SETHD Index ที่มี Dividend yield เฉลี่ย 3 ปี สูงสุด 15 อันดับแรก มี Dividend yield อยู่ในระดับสูง โดยอยู่ในช่วง 4.75% ถึง 22.10% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 8.01% ต่อปี
จากการศึกษาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า หุ้นปันผลเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุน และเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นปันผลสามารถพิจารณาหลายแนวทาง นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย อาทิ ราคาตลาดของหลักทรัพย์ในขณะนั้น เมื่อเทียบกับราคาที่แท้จริง ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน สภาพคล่องในการซื้อขาย และจังหวะเวลาในการเข้าลงทุนในหุ้นปันผลนั้น ๆ เป็นต้น
สำหรับ ปี 2566 เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายทั้งจากปัจจัยต่างประเทศ อาทิ ความไม่แน่นอนของทิศทางการเงินการคลังของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ตลอดจนความผันผวนของภูมิอากาศที่มีผลต่อการผลิตทั่วโลก เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปัจจัยภายในประเทศทั้งการส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การท่องเที่ยวยังไม่เติบโตเท่าที่คาด อีกทั้งหนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง กำลังซื้ออยู่ในระดับต่ำ
ขณะ การใช้จ่ายและลงทุนจากภาครัฐลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.6% ตามการแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4/2566 และแนวโน้มปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 และแน่นอนว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
โดยปี 2566 บริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหุ้นไทย จำนวน 823 บริษัทมีรายได้รวม 18.19 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 ที่มีรายได้รวม 18.56 ล้านล้านบาท หรือลดลง 2.0% และบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิรวม 946,605 ล้านบาท ลดลง 2.6% จากปี 2565 และเมื่อพิจารณากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน พบว่า 625 บริษัท จากทั้งหมด 823 บริษัท หรือ 76.0% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดยังคงมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ซึ่งหากศึกษาข้อมูลจากสถิติต่าง ๆ ของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งใน “หุ้นห่านทองคำ” ในพอร์ตของนักลงทุนได้
ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของบริษัทจดทะเบียนไทยสูงประมาณ 1.25 - 2.25 เท่าของอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือน ขณะที่บางอุตสาหกรรมมี Dividend Yield สูงเป็น 2 เท่าของอัตราที่สูงที่สุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์
หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือน สำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์ ที่เปิดเผยในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2566 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนฯ แม้จะปรับขึ้นจากสิ้นปี 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ คืออยู่ในระดับ 1.20 % ถึง 2.65% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ที่ 1.23%
ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ณ สิ้นปี 2560 - 2566 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย พบว่า ในทุกปีที่ทำการศึกษาผลตอบแทนจากเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และสูงประมาณ 1.25 - 2.25 เท่าของอัตราที่สูงที่สุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ และพบว่า ณ สิ้นปี 2566 บางอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงเกือบ 2 เท่าของอัตราที่สูงที่สุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน
ตลท.เร่งหาเกณฑ์ออกมาตรการใหม่ต่อเนื่องเรียกความเชื่อมั่น
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ตลท.ยังคงเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางป้องกันและป้องปรามการกระทำผิดกฎที่จะเกิดขึ้นในตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง หลัก ๆ คือการเรียกความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทยเพื่อดึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ดังนั้น ตลท. จึงออกเกณฑ์และประกาศใช้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย สิ้นเดือนมีนาคมปีนี้ SET Index ปิดที่ 1,377.94 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคและกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ กลุ่มการเงิน และกลุ่มทรัพยากร
ขณะมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 42,782 ล้านบาท ลดลง 30.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหลังจากซื้อสุทธิในเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมีนาคม 2567 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 41,238 ล้านบาท ทำให้ใน 3 เดือนแรกปีนี้ ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 68,862 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23
ขณะ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 3.30% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.23%