xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ล้อมกรอบ ROBOT TRADING / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงถึงการยกระดับมาตรการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน การซื้อขายหุ้นและการคุ้มครองนักลงทุนให้มีความเข้มข้น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในตลาดหุ้น

เพราะถ้ามาตรการต่างๆ ที่ประกาศ ก.ล.ต.สามารถนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้

มาตรการกำกับที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดคือ การควบคุมโปรแกรมการซื้อขายหรือ ROBOT TRADING ซึ่งนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.ระบุว่า จะมีความชัดเจนในเดือนมีนาคมนี้

ROBOT TRADING เป็นปัญหาที่สะสม คั่งค้างมาตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยนักลงทุนเรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระงับการซื้อขายด้วย ROBOT เพราะเอาเปรียบนักลงทุน โดยได้สิทธิเชื่อมระบบการซื้อขายตรงเข้ากับระบบตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ส่งผ่านคำสั่งซื้อขายได้รวดเร็วกว่า มีต้นทุนการซื้อขายหรือค่านายหน้าที่ต่ำกว่า

และยังเป็นช่องทางการทำ NAKED SHORT หรือการขายหุ้นโดยไม่มีใบหุ้นอยู่ในมือ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ สำหรับรายการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ และส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่ายืมหุ้นมาจากคัสโตเดียน หรือผู้รับฝากหุ้น

แต่ตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบหรือขอข้อมูลจากคัสโตเดียนได้ว่า นักลงทุนต่างประเทศยืมหุ้นมาจริงหรือไม่

ROBOT TRADING ถูกนักลงทุนมองว่าเป็นมหาวายร้ายในตลาดหุ้นไทย เป็นตัวการที่ทำให้หุ้นตกหลายปีติดต่อ เป็นต้นเหตุที่ทำให้นักลงทุนในประเทศเสียหายย่อยยับจากการถูกเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ

ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหา ROBOT นักลงทุนรายย่อยอาจสูญพันธุ์ และตลาดหุ้นอาจแปรสภาพเป็นป่าช้าที่เงียบหงอย

การที่ ก.ล.ต. ลงมาคลุกปัญหา ROBOT และเตรียมยกระดับคุมเข้ม เป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องของนักลงทุน แม้ยังไม่กล้าตัดสินใจ โละทิ้งระบบ AI ตัวร้ายก็ตาม

เพียงแต่จะต้องรอความชัดเจนของมาตรการควบคุมที่เข้มข้นในเดือนมีนาคมนี้ว่า ก.ล.ต.จะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้ขนาดไหน จะควบคุม ROBOT TRADING จนไม่สามารถเอาเปรียบและซื้อขายอย่างเท่าเทียมกับนักลงทุนในประเทศได้หรือไม่

นอกเหนือจากการแก้ปัญหา ROBOT แล้ว ก.ล.ต.ยังวางแนวทางยกระดับคุณภาพบริษัทจดทะเบียน เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงกฎเกณฑ์การรับหุ้นใหม่ให้มีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 และถือเป็นการกลั่นกรองคุณภาพสินค้าตั้งแต่ต้นธาร ก่อนปล่อยผ่านเข้าตลาดหุ้น

เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา การรับหุ้นใหม่ ดำเนินไปด้วยนโยบายเชิงปริมาณ ทั้งการรับหุ้นใหม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาด MAI ทำให้เกิดความหย่อนยานในการกลั่นกรองด้านคุณภาพ

บริษัทจดทะเบียนเน่าๆ แต่ถูกบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินแต่งตัว แต่งงบใหม่ จนสามารถตบตาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้ จึงถูกปล่อยเข้ามาในตลาดหุ้น และสร้างความเสียหายให้นักลงทุน ก่อนจะกลายเป็นหุ้นตายซากในกระดานหุ้น

หุ้นที่อยู่ในสภาพตายซากมีจำนวนนับร้อยบริษัท ราคาหุ้นเหลืออยู่ไม่กี่สตางค์หรือไม่กี่สิบสตางค์ และแทบไม่มีการซื้อขายในแต่ละวัน เพียงแต่มีเจ้าของคอยดูและส่งคำสั่งซื้อขายสร้างภาพลวงตา ให้ดูเหมือนว่ายังมีนักลงทุนเล่นอยู่เท่านั้น

ถ้าดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนเน่าๆ ที่อยู่ในสภาพตายซาก จะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนนับหมื่นรายหลงเข้าไป “ติดกับ” อยู่ ต้องขาดทุนป่นปี้

หุ้นเน่านับร้อยบริษัทสร้างความเสียหายให้นักลงทุน และยังถือหุ้นติดดอย ถือหุ้นรอคอยอย่างไร้อนาคต รวมแล้วน่าจะมีนับล้านคน

การที่ ก.ล.ต.จะกรองเข้มคุณสมบัติหุ้นใหม่ตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นแนวทางที่ดีและน่าสนับสนุน

ส่วนหุ้นบริษัทจดทะเบียนเดิมถ้ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เข้าข่ายเป็นภัยต่อนักลงทุน จะถูกตะเพิดพ้นตลาดหุ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายนนี้ และหวังว่าบรรดาหุ้นเน่าๆ ที่อยู่ในสภาพตายซาก แถมยังมีพฤติกรรมโกงจะไม่ถูกปล่อยไว้ให้รกหูรกตานักลงทุนต่อไป

นอกจากนั้น ก.ล.ต.ยังวางแนวทางยกระดับบทบาทบุคลากรในตลาดหุ้น โดยเฉพาะกรรมการของบริษัทจดทะเบียน บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี และบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องในการดูแลผลประโยชน์ของบริษัทจดทะเบียน

เพียงแต่ยังไม่มีการกำหนดขอบข่ายความรับผิดชอบและบทลงโทษบุคลากรในตลาดหุ้นที่ขัดเจนเท่านั้น

สำหรับมาตรการดูแลปกป้องนักลงทุน ก.ล.ต.จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อมูล และเมื่อมีสัญญาณผิดปกติ จะส่งสัญญาณเตือนความเสี่ยงนักลงทุนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์และมาตรการควบคุมการซื้อขายให้เข้มข้นขึ้น

การยกระดับมาตรการกำกับบริษัทจดทะเบียนและระบบการซื้อขาย โดยเฉพาะ ROBOT TRADING ครั้งนี้ ถ้าปฏิบัติได้จริงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีของ ก.ล.ต. ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหุ้นที่แทบจะไร้บทบาทการแก้ปัญหาในตลาดหุ้นมาหลายปี

ตลาดหลักทรัพย์นิ่งและเงียบสนิทมานาน จนนักลงทุนสิ้นศรัทธา และจำเป็นต้องผ่าตัดด่วนอย่างยิ่ง

ก.ล.ต.ตื่นขึ้นมาแล้วในการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์นักลงทุนในประเทศ

แต่ผลงานชิ้นแรกที่จะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับคืนมา อยู่ที่มาตรการควบคุมเข้ม ROBOT TRADING

ก.ล.ต.จะตีกรอบ ROBOT ไม่ให้เอาเปรียบหรือเล่นโกงนักลงทุนในประเทศได้หรือไม่ อดใจรอดูความชัดเจนเดือนมีนาคมนี้แหละ








กำลังโหลดความคิดเห็น