xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.ยกระดับสร้างความเชื่อมั่น ใช้ AI- เกณฑ์ใหม่ดับกลโกงป้องผู้ลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหลักทรัพย์ ฯ กางแผน 3ปี (67-69) เร่งสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มศักยภาพการลงทุน และปีนี้ใช้เทคโนโลยี AI หวังช่วยป้องปรามกลโกง และปกป้องผู้ลงทุน เตรียมสรุปผลศึกษา Naked Short-โปรแกรมเทรดต้น ก.พ.นี้ รวมทั้งติดตามคุณภาพบริษัทจดทะเบียน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของตลาดทุนไทย หนุนบริษัทมีศักยภาพเข้าจดทะเบียน ดูดผู้ลงทุน ผ่าน LiVE Platform เดินหน้ากระจายข้อมูลสื่อสารให้ถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อดึงเข้าลงทุนเพิ่ม หลังตัวเลขนักลงทุนเจนใหม่ขยับเฉียด 40% อีกทั้งร่วมมือกับพันธมิตรยกระดับ SET ESG Assessment สู่มาตรฐานโลก

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยแผนงานของ ตลท. ว่าตลท.ได้เริ่มด้วยเพิ่มการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ไปจนถึงการเพิกถอน โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน พร้อมก้าวสู่ปีที่ 50 พัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ "To Make the Capital Market Work for Everyone" ผ่านแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2567-2569 "สร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตอย่างยั่นยืน" ใน 3 ด้านหลักคือยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน , เสริมศักยภาพการแข่งขัน และสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

โดยแผนงานปี 67 ตลท. ยังคงมุ่งมั่นในสร้างและยกระดับความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนเป็นภารกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยจะทำ Financial data health check ติดตามคุณภาพบริษัทจดทะเบียน (บจ.), ยกระดับการกำกับดูแล ตรวจสอบการซื้อขาย Surveillance Prevention and Analytics (SPA) พร้อมนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขาย รวมถึงใช้ช่วยเตือนผู้ลงทุนเมื่อพบความผิดปกติ รวมทั้งประสานงานกับพันธมิตร เช่น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) หลังพบความผิดปกติของหุ้นกู้ที่มีมากขึ้น เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลธุรกิจของ บจ. พร้อมนำมาประมวลผล

ทั้งนี้จะพัฒนาระบบและเครื่องมือเพื่อปกป้องผู้ลงทุนโดยเชื่อมต่อข้อมูลทั้งภายในและภายนอกตลาด ด้วยการนำ AI มาช่วยตรวจจับข่าวปลอมที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกหลอกลงทุน รวมทั้งจะให้ข้อมูลแบบรวดเร็วและทันเวลา เพราะตระหนักดีว่าการออกกฎกำกับต่าง ๆ แม้เป็นเกณฑ์ที่ดีก็ไม่สามารถทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกปัจจุบันได้ อย่างกรณีของ MORE หรือ บริษัท มอร์รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) และ STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เกิดขึ้นในตลาดทุนคือกรณีศึกษาที่ดีมาก เพราะถือเป็นการตั้งใจโกง

อย่างไรก็ตาม การยกระดับความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนเป็นการทำต่อเนื่อง ที่ได้ยกระดับการกำกับดูแล 5 ขั้นตอน คือ เพิ่มคุณสมบัติบริษัทเข้าจดทะเบียน , เพิ่มการกำกับดูแล บจ.ที่มีปัญหาด้านผลดำเนินงาน โดยเพิ่มเหตุ C-sing , เพิ่มระบบการตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ และศึกษาแนวทางจัดตั้ง “Securities Bureau" , เพิ่มเหตุเพิกถอน และให้ บจ. เปิดเผยเพิ่ม เมื่อมีเหตุสงสัย และกรณีการซื้อขายร้อนแรง ต้องเปิดเผยข้อมูล Program trading 

เตรียมสรุปเกณฑ์คุมหุ้นร้อน สกัดกลโกง 

นายภากรกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากกลโกงและหลอกให้ผู้ลงทุน หลงเชื่อและเข้าลงทุนในปีที่ผ่านมา จนทำให้เกิดความเสียหายไปทั้งระบบในปีที่ผ่ามานั้น ทำให้ ตลท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง โอลิเวอร์ ไวแมน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคคอล เข้ามาดูระบบและมาดูว่าสิ่งที่ดำเนินการ หรือปฏิบัติในการป้องกัน Naked Shortและการกำกับดูแลโปรแกรมเทรด และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวมีอะไรบ้างที่ ตลท. มีการดำเนินการไม่เป็นระดับสากล (Global standard) คาดสรุปผลการศึกษาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ภายในต้นเดือน ก.พ. ก่อนจะเริ่มดำเนินการได้ไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งต้องหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

ขณะเดียวกัน ตลท.ยังอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เพื่อหามาตรการให้สมาชิกมีฐานข้อมูลบุคคลที่เข้ามาซื้อขายที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือเข้าข่ายการสร้างราคา (ปั่นหุ้น) เพื่อจะทำให้สมาชิกโบรกเกอร์สามารถจัดการกับผู้ที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์ผิดจากกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้

 “ปีนี้ ตลท. จะให้ความสำคัญในการทำงานเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุน เพราะมีการแนะนำจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯว่าควรจะมีดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือ KPI ที่ชัดเจนขององค์กร รวมทั้งการกำกับดูแลการซื้อขาย ที่ผ่านมา ตลท.ได้รับการแจ้งเบาะแสข้อมูลการทำ Naked Short 4 เคส แต่จากการเข้าไปตรวจสอบก็พบว่าใช่การทำ Naked Short ซึ่ง ตลท. เปิดรับข้อมูลที่น่าสงสัยพร้อมนำไปตรวจสอบ ซึ่งหากมีผู้สงสัย หรือมีข้อมูล สามารถติดต่อมายังตลาดหลักทรัพย์ได้ทันที เพราะเรื่องบางเรื่องเราต้องติดตามกันแบบ Trade by Trade ” นายภากรกล่าว

สำหรับเกณฑ์ให้หยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (Auto Halt) ในหุ้นที่เทรดผิดปกติ รวมทั้งการใช้ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์แบบ Auction โดยจะกำหนดช่วงระยะเวลาซื้อขายนั้น เบื้องต้นขณะนี้ ตลท. และ ก.ล.ต. ยังอยู่ในระหว่างศึกษา และอีกหลายเรื่อง ตลท. จะเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อหาบทสรุป ถือเป็นการร่วมด้วยช่วยกันป้องกัน ป้องปราม ปรับปรุงตลาดหุ้นไทย อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่หลายฝ่ายร่วมมือกัน จะทำให้ระบบแกร่งขึ้น และลดการกระทำผิด ซึ่งคงต้องปรับกันทั้งระยะสั้นและยาว

 เตรียมคลอดเกณฑ์ใหม่ บจ.Q2 นี้ 

ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลท. กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการกำกับบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ. สำหรับหุ้นที่จะเข้าจดทะเบียนใหม่ โดยจะเน้นที่ผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน กล่าวคือบริษัทจะเข้าตลาด เอ็ม เอ ไอ หรือ mai จะใช้เกณฑ์ กำไรสุทธิต้องประเมิน 2-3 ปี จากที่ผ่านมาให้ใช้เพียงปีเดียว เพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของกำไร ตลอดจนทุนจดทะเบียน อีกทั้งเรื่องของการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือฟรีโฟลตของหุ้นแต่ละตัว เพราะปัจจุบันพบว่ามี บจ. ที่มีฟรีโฟลทต่ำอยู่ถึง 20-25 บริษัท และ ตลท. อยู่ระหว่างจะยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม เพราะปกติจะคิดค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มของหุ้นกลุ่มนี้ทุกปี แต่จะใช้มาตรการขึ้นเครื่องหมาย C ไป 1 ปี หากแก้ไขไม่ได้ ก็จะแขวน SP และเพิกถอนในที่สุดตามลำดับ

นอกจากนี้ ตลท. จะเพิ่มมาตรการให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนมากขึ้น เช่น การเพิ่มเหตุการแขวนเครื่องหมาย C เพื่อเตือนนักลงทุน รวมถึงอาจต้องใช้มาตรการให้นักลงทุนต้องซื้อหุ้นด้วยเงินสด 100 % เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนกรณีที่บริษัทนั้นๆ ผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมให้เปิดเผยข้อมูล ก็จะเพิ่มการให้ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ได้ก่อนจึงจะปลดเครื่องหมายที่แขวน

กระจายข้อมูลให้ทั่วถึง ดึงคนรุ่นใหม่ลุยตลาดทุน 

รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด ตลท. เผยว่า ตลท. อยู่ระหว่างผลักดันให้คนไทยเข้ามาใช้ตลาดทุนเพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งหรือเพิ่มสินทรัพย์ในระยะยาวเพิ่ม ด้วยการพยายามจะดึงให้มีผู้ลงทุนใหม่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันพบว่ามีจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งหมด 5.5 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 2.5 ล้านราย และพบแนวโน้มนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นคนรุ่นใหม่ หรือ young gen มีสัดส่วนมากขึ้น คือกลุ่ม Gen-Y และ Gen-Z โดยเฉพาะ Gen-Z ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเดิม 10% ปัจจุบันมีถึง 30-40%

ดังนั้น ตลท. ต้องทำจากนี้คือการสื่อสารกับผู้ลงทุนรุ่นใหม่มากขึ้น ต้องไปเจาะให้ถึงคนกลุ่มนี้เพื่อให้เข้าใจถึงการลงทุน รวมทั้งการแนะนำพร้อมกับเตือนให้ระมัดระวังการลงทุน ด้วยการให้ความเข้าใจว่าจะเน้นลงทุนอย่างไร ทำไมการลงทุนจึงความสำคัญ ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มความมั่งคั่งจากการลงทุนอย่างถูกต้อง เพราะปีที่ผ่านมามีข่าวปลอมหลอกให้คนที่สนใจเข้าไปลงทุนจริงๆ ถูกหลอกทำให้เกิดความเสียหายตามมา

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ปีนี้มีบริษัทใหม่ ๆ ที่จะเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ได้ยื่นขออนุญาตแล้ว 43 บริษัท เป็นบริษัทใน SET จำนวน 20 บริษัท และ mai จำนวน 20 บริษัท ขณะที่ในกระดาน LiVE จำนวน 3 บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริการ, กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้และอุตสาหกรรม ซึ่งในจำนวนบริษัทที่ยื่นนั้นพบว่ามี 11 บริษัทอยู่ในธุรกิจกลุ่ม Newseconomy ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของตลท.

อย่างไรก็ดี มองว่าสภาพตลาดหุ้นปีนี้โดยรวมน่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมาและน่าจะเอื้ออำนวยต่อการเข้าระดมทุน ส่วนในเรื่องของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม ( มาร์เก็ตแคป ) เป็นเรื่องที่ยากเกินคาดเดา เพราะขึ้นอยู่กับดัชนีและมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบ

สำหรับ ปี 66 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่หรือหุ้นIPO คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 38,260 ล้านบาท หรือ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าปกติที่มี 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการซื้อขายหุ้นลดลง 30% จากปี 65 เฉลี่ยที่ 53,331 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ส่วนปริมาณการซื้อขาย ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX เฉลี่ยต่อวัน 534,898 สัญญา และเพิ่ม 11 สินค้าที่อ้างอิงหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป อเมริกา แต่ยังมีมูลค่าการระดมทุนสูงเป็นอันดับ 7 ในเอเชีย

ทั้งนี้ การสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ซึ่ง ตลท,มีเป้าหมายชัดจะเข้าสู่ Net Zero ภายในปี 2593 ดังนั้น จึงต้องเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทย ด้วยการดึงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพเข้าระดมทุนมากขึ้น ทั้งใน SET และ mai เช่น กลุ่มดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ สุขภาพ เกษตรและอาหาร เป็นต้น ซึ่งปี 67 ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะปริมาณบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนนั้น ที่ยื่นระดมทุนมี 12 บริษัทที่เป็น New Economy 

นอกจากนี้ สิ่งที่ ตลท. ให้ความสำคัญคือด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ESG recognition ซึ่งมี บจ. 28 แห่งอยู่ในดัชนี DJSI มากที่สุดในอาเซียน ขณะที่ 658 บจ. หรือ 74% เข้าร่วม ESG Data Platform คือการเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูล ESG

ทั้งหมดคือแผนงานหลักของ ตลท.ที่มุ่งเน้น และยังมีส่วนปลีกย่อยอีกมากที่เร่งดำเนินการเพื่อให้ทุกภาคส่วนขององค์รพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เท่าเทียบสากล และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการรักและให้ความสำคัญกับสิ่งด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ดังนั้น ตลท. จึงมุ่งให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการ SET ESG Academy และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ESG ผ่านโครงการ Climate Care Collaboration Platform และ SET Carbon ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจาก ESG Data Platform พร้อมกับจะร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการยกระดับ SET ESG Assessment สู่มาตรฐานระดับโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น