หลังจากเงียบเหงาซบเซามาพักใหญ่ หุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG ได้กลับสู่ความร้อนแรงอีกครั้ง ราคาพุ่งทะยานกว่า 23% ในการซื้อขายเมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่หนาตากว่า 1,200 ล้านบาท
แต่หุ้น XPG ร้อนจัด แจ้งเกิดได้เพียงวันเดียว ถูกสอยเสียแล้ว โดยตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายขั้นที่ 1 กำหนดให้ซื้อขายหุ้นด้วยบัญชีเงินสดหรือบัญชีแคชบาลานซ์ มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมถึง 11 เมษายน 2567
การใช้มาตรการดับร้อนหุ้น XPG ดำเนินการอย่างรวดเร็วปานสายไฟ เพราะหลังปิดการซื้อขายวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม ตลาดหลักทรัพย์ได้สอบถาม XPG ถึงพัฒนาการใดๆ ที่อาจมีผลต่อราคาหุ้น และส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับราคาและปริมาณหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ทั้งที่หุ้น XPG เมื่อวันที่ 25 มีนาคมยังซื้อขายปกติ ราคาปิดที่ 1.20 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าซือขาย 84.53 ล้านบาท
ฝ่ายกำกับตลาดหลักทรัพย์เหมือนมีญาณทิพย์ล่วงหน้า รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับหุ้น XPG จึงส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนก่อน และถ้าใช้มาตรการกำกับเข้มข้นและฉับไวกับหุ้นร้อนทุกตัว ในมาตรฐานเดียวกับ XPG น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
ตลาดหลักทรัพย์ “ดักทาง” หุ้น XPG ถูก เพราะกลังส่งสัญญาณเตือนนักลงทุน วันรุ่งขึ้นหรือวันที่ 26 มีนาคม ราคาหุ้น XPG พุ่งทะยานปิดที่ 1.48 บาท เพิ่มขึ้น 28 สตางค์หรือเพิ่มขึ้น 23.33% มูลค่าซื้อขาย 1,206.79 ล้านบาท และเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดอันดับ 2 ของวัน
นายระเฑียร ศรีมงคล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร XPG เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเพิ่งแถลงแผนการรุกธุรกิจ สร้างความเติบโตของรายได้บริษัทเมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม
แต่ราคาหุ้นที่พุ่งแรงขึ้นมาไม่ได้เกิดจากแรงกระตุ้นการแสดงวิสัยทัศน์ทางธุรกิจของนายระเฑียร แต่เกิดจากความคาดหมายว่า XPG ซึ่งดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะรับอานิสงส์จากการที่ราคาบิตคอยน์มีแนวโน้มพุ่งขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่
และหุ้นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี หรือธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนับสิบบริษัทก็ปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกัน
เพียงแต่ XPG กลายเป็นหุ้นคริปโตฯ พี่ใหญ่ที่ทะยานขึ้นอย่างโดดเด่นที่สุดเท่านั้น
เรื่องราวของ XPG เรื่มต้นเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยนายระเฑียร ประธานเจ้าหน้าที่บริการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ได้ซื้อหุ้นบริษัท ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO จำนวน 100 ล้านหุ้น หรือประมาณ 6% ของทุนจดทะเบียน จากนายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ ในราคาหุ้นละ 1.60 บาท
หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น XPG ปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารและโครงสร้างธุรกิจ กลายเป็นบริษัทลงทุนในกิจการอื่น และประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ราคาหุ้น XPG พุ่งทะยานขึ้นต่อเนื่อง โดยเวลาเพียงไม่กี่เดือนกลังนายระเฑียรซื้อหุ้น ราคาหุ้น XPG ที่คลานต้วมเตี้ยมแถว 1 บาท พุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 11 บาท ก่อนที่จะมีการเพิ่มทุน
ออกหุ้นใหม่จำนวน 1,102.56 ล้านหุ้น ขายให้ 3 กลุ่มพันธมิตรธุรกิจในราคาหุ้นละ 4.16 บาทประกอบด้วย บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) (ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI และนายมงคล ประกิจชัยวัฒนา นักลงทุนรายใหญ่ที่ร่ำรวยหลายหมื่นล้านบาทจากหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ที่นายระเฑียร บริหาร
ต่อมา XPG เพิ่มทุนอีกครั้ง นำหุ้นจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ ทำให้ 3 พันธมิตรที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนไปก่อนหน้ามีต้นทุนหุ้น XPG เฉลี่ยหุ้นละประมาณ 2.70 บาท
หลังประกาศเพิ่มทุน หุ้น XPG ถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 5 บาท ก่อนไหลรูดลงต่อเนื่องหลายปี และสร้างจุดต่ำสุดที่ 85 สตางค์
ทั้งนักลงทุนขาใหญ่ ซึ่งรวมถึงนายชูชาติ เพชรอำไพ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ซึ่งทยอยเก็บหุ้น XPG และถืออยู่จากเดิมราว 7% ปัจจุบันลดลงเหลือราว 3% ของทุนจดทะเบียน ทั้งนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนรายย่อยจำนวน 25,860 ราย ติดดอยหุ้น XPG กันหมด
ผลประกอบการ XPG ไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวัง โดยปี 2564 มีรายได้รวมเพียง 150.60 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 88.12 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้รวม 91.67ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 171.12 ล้านบาท และปี 2566 มีรายได้รวม 621.71 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 106.09 ล้านบาท
ค่าพี/อี เรโช หุ้น XPG อยู่ที่ 132 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่นักลงทุนที่เข้าไปเก็งกำไรมีความคาดหวังอนาคตผลประกอบการที่เติบโตและมีความคาดหวังนายระเฑียร
เพียงแต่ความคาดหวังทั้งผลประกอบการ XPG และฝีมือนายระเฑียรยังไม่ปรากฏเท่านั้น
หุ้น XPG เพิ่งยืดเส้นยืดสาย เริ่มเด้งขึ้นแรงๆ ได้เพียงวันเดียว ถูกตลาดหลักทรัพย์ “เหยียบเบรก” แล้ว และอาจสะดุดจนเสียจังหวะการกลับตัวสู่รอบขาขึ้นได้