นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี) กล่าวว่า เคทีซีมองภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 4 ของปีนี้จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นช่วงเทศกาลของการจับจ่ายใช้สอย จึงเชื่อว่าธุรกิจขอฃบริษัทจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงเป้าหมายการทำนิวไฮกำไรสุทธิในปีนี้ด้วย ซึ่งแม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 1% เนื่องจากเราลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีค่อนข้างมาก แต่ถือเป็นรากฐานที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
"ในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่สูงนั้น เรามองว่าจุดนี้ในส่วนของเคทีซีมีความระมัดระวังและยึดหลักในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีธรรมาภิบาลอยู่แล้ว และหากจีดีพีเติบโตขึ้นตัวเลขตรงนี้จะขยับลง และที่สำคัญคือเราต้องปลูกฝังให้คนที่กู้เงินนั้นมีวินัยและสร้างหนี้ตามความจำเป็นด้วย เพราะคนที่ยังมีความจำเป็นและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนยังมีอยู่มาก"
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี) เปิดเผยว่า ในปี 2567 เคทีซียังมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อในทั้ง 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ "เคทีซีพี่เบิ้ม รถแลกเงิน" โดยเคทีซีจะเน้นขยายฐานสมาชิกไปยังผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกินความจำเป็น ทั้งนี้ แผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจต่างๆ ในปี 2567 จะประกอบไปด้วย ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี ตั้งเป้ามีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 15% จากปี 2566 โดยในปี 2567 จะเป็นปีที่เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสำหรับสมาชิกในทุกขั้นตอนของการใช้บริการบัตรเครดิตเคทีซี ด้วยการพัฒนาแอป “KTC Mobile” ต่อเนื่อง และยังคงเน้นทำการตลาดในกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมของเราเติบโตได้ดี
สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลยังเป็นธุรกิจที่เราเน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย ด้วยแผนกลยุทธ์หลัก 2 เรื่อง คือ 1.สรรหาสมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพ เน้นการรับสมัครผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application เพื่อให้สมาชิกทำรายการได้ด้วยตนเอง และรู้ผลอนุมัติแบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีทันที รวมทั้งจะพัฒนากระบวนการรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของเคทีซีและของพาร์ตเนอร์ 2.สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บัตรกดเงินสดให้สมาชิก “เคทีซี พราว” กว่า 700,000 ราย
ส่วนธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ยังคงเน้นการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ที่ 6,000 ล้านบาท ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.เน้นสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2.ผนึกกำลังกับธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้า ผ่านสาขาธนาคารกว่า 900 แห่งเป็นหลัก เสริมด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ของธนาคาร อย่าง NEXT ถุงเงินและเป๋าตัง 3.ตอกย้ำและเสริมความแกร่งให้จุดแข็งผลิตภัณฑ์ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ด้วยวงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที และยังขยายฐานไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมบัตรกดเงินสด เคทีซี พี่เบิ้มอีกด้วย
และในส่วนของ MAAI by KTC ในปี 2567 มีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก MAAI ประมาณ 2 ล้านราย โดยจะพัฒนาเชิงกลยุทธ์ใน 3 เรื่องหลักคือ 1.ต่อยอดการพัฒนาแพลตฟอร์ม ฟีเจอร์ หรือฟังก์ชันใหม่ๆ ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ 2.เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับประสบการณ์การใช้งานแอป MAAI by KTC ให้ง่าย สะดวกและดียิ่งขึ้น 3.ขยายร้านค้ารับแลกคะแนน MAAI และมีจุดรับแลกคะแนนที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงทุกธุรกิจ และมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ที่แข็งแรง ให้พันธมิตรสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ในส่วนของการบริหารต้นทุนทางการเงิน ในปี 2567 เคทีซีจะยังคงรักษาระดับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีแผนจะระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 13,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดประมาณ 11,850 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ประมาณ 20:80 และต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ประมาณ 3.1% สูงขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8%