การต่อสู้ที่แสนทรหดและยาวนานของผู้ถือหุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK สิ้นสุดลงแล้ว หลังศาลแพ่งพิจารณารับเป็นคดีฟ้องแบบกลุ่มหรือ CLASS ACTION เรียกค่าเสียหายจากอดีตผู้บริหาร STARK จำนวน 5 ราย
อดีตผู้บริหาร STARK จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย นายวนรัชต์ ตั้งคาราวคุณ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และนายกิตติศักด์ จิตต์ประเสริฐงาม
กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ STARK ได้เริ่มรวมตัวกัน หลังบริษัทมีปัญหาฐานะการเงิน และปฏิเสธการชำระหนี้หุ้นกู้วงเงินทั้งสิ้นกว่า 9 พันล้านบาท มีผู้ถือหุ้นกู้ทั้งสิ้นกว่า 4 พันราย โดยจัดตั้ง “กลุ่มห้อง STARK ตัวจริง” มีสมาชิกซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากหุ้นกู้ STARK กว่า 1 พันราย
ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ STARK ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้บริหาร STARK รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีกลุ่มผู้บริหารที่กระทำความผิดทุจริต โดยแต่งบัญชีงบการเงิน ตบตาประชาชนผู้ลงทุน รวมทั้งยื่นฟ้องร้องแบบกลุ่ม เรียกความเสียทางแพ่งกับ 5 อดีตผู้บริหาร STARK
แกนนำตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ STARK ต้องทุ่มเทเวลาและการเสียสละในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอด ฟันฝ่ากับอุปสรรคและขวากหนามต่างๆ จนสุดท้ายศาลแพ่งได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง CLASS ACTION ซึ่งถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ คุ้มค่าสำหรับการต่อสู้
ตัวแทนผู้ถือหุ้น STARK สร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ของตลาดหุ้น โดยฟ้องแพ่งเรียกร้องความเสียหายแบบกลุ่มเป็นคดีแรก และศาลแพ่งรับคำฟ้อง
ไม่มีเสียงไชโยโห่ร้องในห้องพิจารณาคดี มีแต่ใบหน้าที่แสดงความปีติยินดีของบรรดาผู้ถือหุ้นกู้ STARK ที่ร่วมฟังการพิจารณาคดี พร้อมกับน้ำตาที่รินออกมาบนชัยชนะ
การต่อสู้ตามกระบวนการตามกฎหมายเพื่อทวงความเป็นธรรม และเรียกร้องค่าเสียหาย จากอดีตผู้บริหาร STARK บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สร้างตำนานโกงครั้งมโหฬารที่สุด ผู้ถือหุ้นกู้ได้เดินทางสู่จุดหมายปลายทางแล้ว
คดีเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล รอเพียงตำตัดสิน ซึ่งคงใช้เวลาอีกเป็นปีหรืออาจหลายปี โดยไม่อาจก้าวล่วงคาดหมายคำวินิจฉัยของศาลได้
แต่สิ่งที่สามารถเดินหน้าดำเนินการได้ทันทีคือ การติดตามอายัดหรือยึดทรัพย์สินของ 5 อดีตผู้บริหาร STARK ซึ่งส่วนใหญ่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษความผิดทางอาญา และความผิดที่เข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ปปง.) ต้องเร่งตามอายัดทรัพย์ทั้งหมดก่อนที่จะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน
แม้ ปปง.จะอายัดทรัพย์สินของอดีตผู้บริหาร STARK บางคนบ้างแล้ว แต่มูลค่าทรัพย์สินที่อายัดมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ถูกถ่ายเทออกจาก STARK จำนวนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท
โดยเป็นเงินจากการออกหุ้นกู้ประมาณ 9 พันล้านบาท เงินกู้จากสถาบันการเงินประมาณ 8 พันล้านบาท และเงินจากการออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,550 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ 12 ราย ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท รวมวงเงิน 5,580 ล้านบาท
เงินที่ระดมเข้าไปจำนวนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท เมื่อถูกโอนเข้าไปใน STARK กลุ่มผู้บริหารได้จัดสรรปันส่วน ผ่องถ่ายเข้ากระเป๋าตัวเอง ทิ้งความเสียหายให้ประชาชนผู้ลงทุนในวงกว้าง
การเยียวยาความเสียหายให้ประชาชนผู้ลงทุนที่ดีที่สุด โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นกู้กว่า 4 พันรายคือ การตามเงินที่ถูกปล้นออกจาก STARK กลับคืนมาให้มากที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปปง.โดยตรง
แต่ข่าวการตามยึดตามอายัดทรัพย์สินของอดีตผู้บริหาร STARK เงียบหายไปตามสายลมเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของผู้ถือหุ้นกู้ STARK เป็นการต่อสู้ที่น่าสรรเสริญ ยกย่อง
และจะเป็นแบบอย่างของประชาชนผู้ลงทุนที่ถูกกระทำจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จนเสียหายถึงขั้นหมดตัว เพราะบางคนนำเงินออมก้อนสุดท้ายในชีวิตจำนวนนับร้อยล้านบาท ทุ่มลงทุนในหุ้นกู้ STARK แต่ไม่ได้รับชำระคืนแม้แต่บาทเดียว
ยังมีผู้ถือหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอีกนับสิบแห่งที่กำลังมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และมีความเป็นไปว่า ผู้บริหารบริษัทจะมีพฤติกรรมโกง ผ่องถ่ายเงินซ้ำรอย STARK
เพียงแต่ผู้ถือหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนอื่นไม่ได้รวมพลังลุกขึ้นสู้ยิบตาเหมือนผู้ถือหุ้นกู้ STARK เท่านั้น