xs
xsm
sm
md
lg

กูรูอสังหาฯ มอง 7 มาตรการรัฐหนุนตลาดฟื้น เร่งแก้ปมร้อน "แบงก์เข้ม" ปล่อยกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาฯ ประเมินมาตรการอสังหาฯ 7แนวทาง ช่วยขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ เติบโต หวังทางการปลดล็อก LTV แก้แบงก์ปล่อยสินเชื่อ ขยายครอบคลุมเกินกว่า 3 ล้าน

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลังมีมาตรการด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยจะมีการหารือกับทางกระทรวงมหาดไทย ในการปรับเกณฑ์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ในช่วงที่ผ่านมากำลังซื้อคนไทยมีปัญหาหนักทั้งเรื่องของการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะยาวจนไม่อยากสร้างภาระระยะยาวจากการซื้อที่อยู่อาศัย การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีการประกาศออกมาเป็นรูปธรรม แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศมาตรการออกมาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อคนไทย ซึ่งลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา​ จากปัจจัยลบต่อเนื่องจากช่วงโควิด โดยที่เป็นปัญหาและมีการพูดถึงกันมากที่สุด​ คือ​ การเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารต่างๆ​ ซึ่งมีผลให้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงในตลาดที่อยู่อาศัยสูงกว่า 50-60% รวมไปถึงเรื่องของดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อค่างวดในการผ่อนที่มากขึ้น และทำให้ความสามารถในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยลดลง

"ทั้ง 2 เรื่องนี้รัฐบาลอาจจะเข้าไปแก้ไขลำบากไม่สามารถออกมาตรการหรือนโยบายออกมาได้โดยตรง​ เนื่องจากเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย" นายสุรเชษฐ กล่าว

สำหรับมาตรการ หรือนโยบายที่สามารถออกจากรัฐบาลได้โดยตรง คือ มาตรการหรือนโยบายที่บังคับใช้ผ่านกระทรวงมหาดไทย​ และกระทรวงการคลัง​ ซึ่งมีแนวทางออกมาเป็น​ 5 มาตรการด้านภาษี และ 2 มาตรการทางการเงิน​ ซึ่งยังไม่ได้ประกาศใช้ เพียงแต่เป็น 7 มาตรการที่รัฐบาลจะนำไปพิจารณาขอความเห็นชอบต่อไป

โดยทั้ง 7 มาตรการนั้นครอบคลุมทั้งเรื่องของกำลังซื้อคนไทยที่จะได้ลดหย่อนค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนอง รวมไปถึงภาษีส่วนบุคคล​ อีกทั้งเป็นมาตรการที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในฝั่งของผู้ประกอบการด้วย​ ซึ่งมาตรการต่างๆ นั้นเป็นมาตรการที่เคยมีการประกาศใช้มาแล้วในบางรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่จากแนวทางที่มีการพูดถึงนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมตลาดที่อยู่อาศัยมาก เพราะยังมีการกำหนดเพดานราคาที่ไม่เกิน​ 3 ล้านบาทต่อยูนิต แม้ว่ากลุ่มระดับราคานี้​จะมีอยู่มากที่สุดในตลาดที่อยู่อาศัย แต่เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีปัญหา​ในการขอสินเชื่อ​จาก​สถาบันการเงิน​มากที่สุด​ ซึ่งถ้าที่อยู่อาศัยในระดับราคานี้ได้รับการกระตุ้นในฝั่งของกำลังซื้อซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดก็เป็นไปได้ที่ตลาดอสังหาฯ จะขับเคลื่อนต่อไป


สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ใน 7 แนทาง ได้แก่

1.ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการกู้ยืมที่มีดอกเบี้ย ลดหย่อนได้ไม่เกิน 1 แสนบาท

2.มาตรการลดภาษีที่ดิน 90% ให้โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาใน 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระผู้ประกอบการ

3.ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ที่ดิน 3 รูปแบบ

3.1 ที่ดินทรัพย์สินส่วนกลาง (คอนโดฯ)
3.2 ที่ดินสาธารณูปโภค (บ้านจัดสรร)
และ 3.3 ที่เดินสาธารณูปโภคเพื่อการอุตสาหกรรม

4.ขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินออกไปอีก 2 เดือน

5.(มาตรการเดิมที่ดำเนินการแล้ว) ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 1% เหลือ 0.01% (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน)

6.โครงการบ้านล้านหลัง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% นาน 5 ปี (ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน)

และ 7.สินเชื่อแฮปปี้ไลฟ์ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.98% เฉพาะปีแรกดอกเบี้ย 1.95%


กำลังโหลดความคิดเห็น