ตลท.จับมือพันธมิตร จัดงาน “Green Economy: Next Growth and Survive” ส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคเอกชนสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก้าวสู่ปีที่ 50จับมือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และ The Gold Standard Foundation จัดงาน “Green Economy: Next Growth and Survive”โดยได้รับเกียรติจากหม่อมหลวง ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว พร้อมเชิญภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัทจดทะเบียน ร่วมรับฟังโมเดลและรูปแบบนวัตกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’for Everyone” ได้ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการเติบโตอย่างมีสมดุล โดยมีการดำเนินการทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านความยั่งยืน และงานพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และตอบเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และ The Gold Standard Foundation จัดงาน “Green Economy: Next Growth and Survive” ขึ้น เพื่อร่วมกันส่งเสริมภาคเอกชนสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว
“งานในครั้งนี้ ทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ ภาคสังคม และภาคธุรกิจ จะร่วมเสนอวิสัยทัศน์ นโยบายเชิงกลยุทธ์ และแลกเปลี่ยน โมเดลและรูปแบบนวัตกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน รวมถึงการนำกลไกคาร์บอนเครดิตมาร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกรณีศึกษาให้ภาคเอกชนพัฒนาแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนอนาคตของทุกภาคส่วนที่จะโตไปด้วยกันอย่างสมดุลและยั่งยืน” ดร.ภากร กล่าว
นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวว่า โครงการแม่โขงเพื่ออนาคตขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ดำเนินงานโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน ผ่านการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาสังคม พันธกิจของคณะผู้จัดงานในครั้งนี้มีความสอดคล้องด้านกลยุทธ์เรื่องสภาพภูมิอากาศของ USAID เป็นอย่างมาก โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูงและเร่งด่วน ผ่านกลไกการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โครงการรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่สามารถเชื่อม Gold Standard โปรแกรมรับรองคาร์บอนเครดิตให้มาเป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้ โดยโปรแกรมนี้มีต้นกำเนิดมาจากWWF ที่มุ่งเน้นการรับรองคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมและทุกภาคส่วน
ดร.พิเศษ สอาดเย็น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า TIJ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ผลักดันให้เกิดการรวมตัวของภาคีเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (Rule of Law and Development Program) หรือ RoLD Program โดยเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD Fellows) ได้นำประเด็นปัญหาฝุ่นและหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวพันกับหลายประเทศอาเซียน มาสร้างวงสนทนาแลกเปลี่ยนผ่านมุมมองที่มองผ่านเลนส์ในประเด็นด้านความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) โดยมีข้อเสนอที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของไทย คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงของสาเหตุการเกิดฝุ่นควันที่มาจากการเผาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและนำแนวทาง “การพัฒนาทางเลือก” (Alternative Development) มาช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ลดการเผาในที่โล่ง พร้อมกับมีอาชีพทางเลือกใหม่และมีรายได้ที่มั่นคงมาทดแทน ซึ่งจะช่วยลดการกล่าวโทษประชาชน แต่เปลี่ยนไปเป็นการร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน การจัดงานครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้เกิดความเป็นธรรมควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน
งาน “Green Economy: Next Growth and Survive” จะมีการปาฐกถาพิเศษโดยหม่อมหลวง ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย และเสวนา “Carbon Credit: Mechanism for Green Economy?” โดยวิทยากรรับเชิญประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้าน Carbon Finance และ Carbon Credit จากองค์กรระดับสากล และผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่สร้างนวัตกรรมทางสังคมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางภาคเหนือ งานจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 13:00-16:00 น. ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้สนใจสามารถรับฟังงานสัมมนาย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook : SET Social Impact