BAM เปิดแผนกลยุทธ์ปี 67 ชูกลยุทธ์ทั้งการขยายธุรกิจ การดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างผลเรียกเก็บเข้าเป้า 20,000 ล้านบาท พร้อมเร่งขยายฐานสินทรัพย์เพิ่มอีก 70,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจของ BAM ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ชี้ที่ผ่านมาสามารถช่วยลูกหนี้จนได้ข้อยุติ จำนวน 154,178 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานปี 67 ว่า BAM ได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างผลเรียกเก็บให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 67 ที่ 20,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายระยะกลางในปี 69 อยู่ที่ 23,300 ล้านบาท
ขณะที่การขยายฐานสินทรัพย์มีเป้าหมายลงทุนซื้อคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 70,000 ล้านบาท เพื่อรักษาขนาดสินทรัพย์และโอกาสทางธุรกิจของ BAM โดยปัจจุบัน BAM มี NPLs อยู่ที่ 473,636 ล้านบาท และมี NPAs อยู่ที่ 69,807 ล้านบาท ขณะเดียวกัน BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 154,187 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 51,420 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 121,378 ล้านบาท
"เรามั่นใจว่าเป้าที่บอร์ดกำหนดให้ปีนี้ที่ 2 หมื่นล้าน เรามั่นใจทำได้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงเผชิญกับความท้าทาย อสังหาฯ จีนมีปัญหา และช่วงปลายปีที่ผ่านมาและต้นปีนี้มีเรื่องผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้อัตราผลตอบแทนไม่ลดลงได้ ซึ่งปีนี้ได้มอบนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้แบบยืดหยุ่น เพราะสถานการณ์ไม่ดี ดังนั้น เราต้องตามหาลูกค้าให้ทัน เจอลูกค้าและต้องช่วยให้ทัน เร่งช่วยเหลือลูกค้า" นายบัณฑิต กล่าว
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันการเงินหลายแห่งอาจมีการจำหน่าย NPl/NPA ออกสู่ระบบเป็นจำนวนมาก ซึ่งเฉพาะแค่เดือนมกราคมที่ผ่านมา BAM มีการตรวจสอบสินทรัพย์ที่มีภาระเงินต้นเกือบ 40,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ทาง BAM ได้เต็มเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อซื้อทรัพย์ที่จะมีการจำหน่ายออกมา
สำหรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ ประกอบไปด้วย การขยายธุรกิจ โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ที่มีประมาณ 2 แสนล้านบาท จาก NPL ที่มีอยู่ 473,636 ล้านบาท ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ รวมทั้งการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย โดยในเบื้องต้น BAM จะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานขึ้นมาดูแลโครงการดังกล่าว
ขณะที่การดำเนินธุรกิจใหม่ วางแนวทางการร่วมทุนกับสถาบันการเงินซึ่ง BAM จะได้ค่าบริหารจัดการตามสัดส่วนที่มีข้อสรุปร่วมกัน การสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ด้วยการพัฒนาระบบด้านการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานดังกล่าว (แผนระยะกลาง) การพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบ Selective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสมและยังคงบทบาทหลักในการเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับ NPL/NPA เพื่อช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยแผนการลดขั้นตอนและระยะเวลาในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน
นายพงศธร มณีพิมพ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายพัฒนาสินทรัพย์ภูมิภาค กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการกิจการร่วมทุน (Consortium) ว่า เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ผลเรียกเก็บได้ตามเป้าหมายในปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัททั่วไป ซึ่งรูปแบบจะเป็นการแชร์ผลตอบแทนร่วมกัน โดยจะนำที่ดินในโครงการบ้านจัดสรรมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มเติม เบื้องต้นจะมีขนาดที่ดินประมาณ 10-20 ไร่ เป็นต้น