xs
xsm
sm
md
lg

“อมร มีมะโน” เจอข้อหาหนัก..ยักยอกทรัพย์ AJA / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่อีกครั้ง ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศกล่าวโทษผู้บริหารบริษัทในความผิดร้ายแรง ร่วมกันทุจริต ยักยอกเบียดบังเงิน

ก.ล.ต.แจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวโทษ นายอมร มีมะโน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ AJD ร่วมกับพวกรวม 4 คน ประกอบด้วย นายพิภัทร์ ปฏิเวทภิญโญ บริษัท วินซาวด์ (ประเทศไทย) จำกัด

และนายธนชาต ศิริภานุเขม กรณีร่วมกันกระทำการทุจริต ยักยอกเบียดบังเงินจำนวน 145 ล้านบาท เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น ทำให้ AJD เสียหาย

ก.ล.ต. พบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2557 นายอมร และนายพิภัทร์ ได้ร่วมกันตัดสินใจอนุมัติ และลงนามในเช็คเพื่อสั่งจ่ายเงินของ AJD จำนวน 145 ล้านบาท ระบุชื่อผู้รับเงินคือ วินซาวด์ (ไทย) โดยอ้างว่าเป็นค่ามัดจำในการสั่งซื้อสินค้า Set Top Box จากบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศจีน

แต่การตรวจสอบไม่พบการจ่ายค่ามัดจำสินค้าให้บริษัทในประเทศจีนแต่อย่างใด กลับพบเงินถูกถอนหรือโอนออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของ วินซาวด์ (ไทย) โดยนายธนชาต กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและลงนามผูกพันของวินซาวด์ (ไทย) เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายอมร นายพิภัทร์ และบุคคลอื่นอีกหลายรายซึ่งมีความสัมพันธ์กับนายอมร และ/หรือนายพิภัทร์

นอกจากกล่าวโทษนายอมร และพวกต่อดีเอสไอแล้ว ก.ล.ต.ยังแจ้งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ด้วย

นายอมร นายพิภัทร์ พร้อมพวกรวม 40 คน เคยถูก ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง ในความผิดฐานร่วมกันสร้างราคาหุ้น AJD ถูกสั่งปรับเป็นเงินจำนวน 1,727.38 ล้านบาท

การปั่นหุ้น AJD เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 2557 ลากราคา หุ้น AJD จาก 2.60 บาท ขึ้นไปที่ 15 บาท และมีการขายทำกำไรกัน

อย่างไรก็ตาม นายอมร ปฏิเสธการชำระค่าปรับ จน ก.ล.ต.ต้องส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง โดยเรียกค่าปรับสูงสุดเป็น 2,303 ล้านบาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล

ค่าปรับคดีปั่นหุ้น AJD เป็นอัตราค่าปรับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เป็นการปรับตามผลประโยชน์ของแก๊งปั่นที่ได้รับจากการปั่นหุ้น AJD

ส่วนคดีล่าสุดที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษนายอมรและพวกรวม 4 คน เป็นความผิดร้ายแรง และมีโทษทางอาญา ซึ่งแม้จะต้องใช้เวลายาวนานในขั้นตอนการดำเนินคดี แต่จะทำให้นายอมรตกอยู่ในวิบากกรรม เพราะไม่รู้ว่าผลของคดีปั่นหุ้นและคดียักยอกเงินของ AJD จะตัดสินออกมาอย่างไร

การจ่ายค่ามัดจำสินค้าที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ เป็นรูปแบบการผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน ซึ่งกรณีของ AJD สะท้อนให้เห็นว่า การยักยอกทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนด้วยวิธีการจ่าค่ามัดจำสินค้าเกิดขึ้นมานาน ก่อนคดีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เสียอีก

ปลายปีที่ผ่านมา ทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขอให้บริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่งชี้แจงการจ่ายค่ามัดจำการซื้อทรัพย์สิน การปล่อยเงินกู้ยืมบริษัทลูกในเครือ และจ่ายค่ามัดจำเงินลงทุน เพราะอาจเป็นช่องทางการผ่องถ่ายเงินจากบริษัทจดทะเบียน เบียดบังเงินของผู้ถือหุ้น

ในอนาคต ก.ล.ต.อาจเช็กบิลกล่าวโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนอีกนับสิบแห่งตามมา ในความผิดลักษณะเดียวกันกับผู้บริหาร AJD คือ การยักยอกทรัพย์

หุ้น AJA ยังซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยนายอมร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 9.90% ของทุนจดทะเบียน และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 18,167 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ถือหุ้นในราคาต้นทุนสูง ต้องแบกขาดทุนกันถ้วนหน้า โดยไม่รู้ว่า เมื่อไหร่จะหลุดหรือเรียกทุนคืนจากหุ้นตัวนี้ได้

เพราะ AJA เจอแต่ข่าวร้าย อดีตผู้บริหารเจอข้อหาหนักๆ ราคาหุ้น AJA ก็ประคองตัวแถว 20 สตางค์ และไม่มีสัญญาณฟื้นสู่ความคึกคัก








กำลังโหลดความคิดเห็น