xs
xsm
sm
md
lg

บล.ฟิลลิป ให้เป้า SET ปีนี้ 1,500-1,650 จุดดอกเบี้ยขาลงหนุนโอกาสฟื้น จับตาใกล้ชิดการเมืองต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางสาวชุติกาญจน์ สันติเมธวิรุฬ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยในงานสัมนา "หุ้นไทย 2567 ขึ้นปักธงหรือลงตกเหว" โดยมองว่า แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยในปี 67 มีโอกาสฟื้นตัว หลังจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสิ้นสุดลงและอาจเห็นการปรับทิศนโยบายการเงินของแต่ประเทศ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักหนุนการฟื้นตัวของตลาดทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทย โดยให้เป้าหมาย SET Index ในปี 67 กรอบ 1,500-1,650 จุด

จากสถิติย้อนหลัง SET Index ไม่เคยติดลบสองปีติดต่อกัน ซึ่งในปี 66 ตลาดหุ้นไทยติดลบไปแล้ว ดังนั้นปี 67 เป็นโอกาสในการฟื้นตัว โดย Valuation ของตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น่าสะสม Forward P/E ปีนี้อยู่ที่ 15.5-17.0 เท่า Earning yield gap ยืนเหนือ 4% มีโอกาสฟื้นไปได้อีก ซึ่งขึ้นกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 67 ที่ระดับ 97 บาท

นางสาวชุติกาญจน์ กล่าวว่า หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐและไทยมีแนวโน้มลดลงสอดคล้องกัน ส่งผลให้ SET มีแนวโน้มฟื้นตัว และต้นทุนที่ลดลงจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นด้วย ขณะที่มองว่าโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังมีไม่มาก คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ต่อไปก่อน

ปัจจัยหนุนต่อมา คือ ภาพรวมเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวแกร่งกว่าเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการส่งออกไทย นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยคาดว่าปีนี้มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยปีนี้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 34.5 ล้านคน น่าจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

สำหรับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง นอกจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ข้อพิพาททะเลจีนใต้ และสงครามในเมียนมา ล้วนเป็นประเด็นที่ยังวางใจไม่ได้ อีกทั้งปีนี้ยังมีการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐและไต้หวันที่มีผลต่อการเมืองระหว่างประเทศ และอาจกระตุ้นความร้อนแรงของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งปัจจัยดังกล่าวหนุนการย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการอนุมัติงบประมาณปี 67 จะผลักดันให้เกิดการลงทุน และการบริโภค หนุนภาพการฟื้นตัวของ GDP ในไตรมาส 4/66-ไตรมาส 2/67 นอกจากนี้คาดว่าปี 67 โครงการภาครัฐที่ค้างไว้มีมากจากการชะลอการลงทุนกลับมาเดินหน้าได้ ซึ่งมีโครงการที่รอประมูลเกือบล้านล้านบาท รวมทั้งหากโครงการแลนด์บริดจ์ผ่านการศีกษาจะหนุนจะหนุนการลงทุนอีก 1 ล้านล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น