เอเอฟพี - รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนยังคงทำงานเพื่อหาจุดยืนที่เป็นเอกภาพเกี่ยวกับวิกฤตพม่าในวันนี้ (13) หนึ่งวันหลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มสิ้นสุดลง
พม่าได้รับความเสียหายจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564 ที่นำไปสู่การปราบปรามนองเลือดต่อผู้เห็นต่าง
อินโดนีเซีย ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้เรียกร้องให้มีทางออกทางการเมืองต่อวิกฤตดังกล่าว ในการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นเวลา 2 วัน
เป็นเวลามากกว่า 2 ปี หลังรัฐประหาร ความพยายามสร้างสันติภาพของกลุ่มสมาชิก 10 ประเทศที่แตกแยกยังคงไร้ผล ด้วยรัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม
ในวันพฤหัสฯ (13) บรรดารัฐมนตรีของอาเซียนยังคงเห็นต่างกันในแถลงการณ์
นักการทูตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนหนึ่งที่ขอไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่าแถลงการณ์ร่วมยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
นักการทูตคนที่ 2 ที่เข้าร่วมการประชุมเผยกับเอเอฟพีโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อเช่นกันระบุว่า ความล่าช้าเป็นเพราะ ‘พวกเขากำลังทำงานเกี่ยวกับภาษาในประเด็นพม่า’ และแถลงการณ์ร่วมอาจมาถึงอย่างช้าที่สุดในวันศุกร์ (14)
ส่วนร่างฉบับแรกที่เอเอฟพีได้เห็นเมื่อวันอังคาร (11) คำแถลงได้เว้นว่างในส่วนของพม่า ด้วยกลุ่มยังคงถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาและภาษา
นักการทูตคนที่ 2 กล่าวว่า บางประเทศต้องการการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารอีกครั้งในทันที ขณะที่บางประเทศต้องการผลักดันแผน 5 ข้อ ที่ตกลงไว้เมื่อ 2 ปีก่อนกับผู้ปกครองของพม่าเพื่อยังคงเป็นพื้นฐานของการกลับมามีส่วนร่วมอีกครั้ง
สิ่งนี้ยืนยันถึงความแตกแยกที่ร้าวลึกภายในอาเซียนเกี่ยวกับประเด็นพม่า นักการทูตกล่าวเสริม
ไทยได้เปิดการเจรจาอีกทางหนึ่ง โดยพูดคุยโดยตรงกับรัฐบาลทหารพม่าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในความขัดแย้ง
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไทยเป็นเจ้าภาพต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารสำหรับการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการที่ทำให้กลุ่มแตกแยกยิ่งขึ้น
ในวันพุธ (12) ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการหารือของอาเซียน นักการทูตระดับสูงของไทยได้ประกาศว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้พบหารือกับอองซานซูจี ที่ถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่รัฐประหาร และถูกศาลรัฐบาลทหารตัดสินจำคุกเป็นเวลา 33 ปี
ดอน ปรมัตถ์วินัย กล่าวว่าเขาได้พบกับซูจีในวันอาทิตย์ในกรุงเนปีดอ เมืองหลวงของพม่า และกล่าวว่าเธอมีสุขภาพดีและสนับสนุนให้มีการเจรจา
ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารกล่าวว่า ดอนได้หารืออย่างอิสระตามที่เขาต้องการกับซูจี และเสริมว่าซูจีมีสุขภาพดี
ในวันพฤหัสฯ (13) ดอนกล่าวกับนักข่าวว่า “ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 2 ปี ยังไม่ดีขึ้นมากนัก ดังนั้นจึงต้องมีส่วนร่วมกับพม่าอีกครั้ง”
อินโดนีเซียกล่าวว่าความพยายามใดๆ ก็ตามต้องสนับสนุนแผนสันติภาพ 5 ข้อที่มีอยู่ของอาเซียน เพื่อยุติความรุนแรงและการเจรจารอบใหม่
นักการทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พูดคุยกับเอเอฟพีกล่าวว่า สมาชิกอาเซียนจะสนับสนุนความริเริ่มของไทยที่มีวัถตุประสงค์ที่ส่งเสริมบทบาทของประธาน
รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียกล่าวกับนักข่าวว่า สมาชิกทั้งหมดกำลังทำงานในประเด็นเดียวกัน ที่ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปลอดภัย มั่นคง และมั่งคั่ง
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า จาการ์ตามีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายของความขัดแย้งด้วยวิธีทางการทูตแบบปิดเงียบ และในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาในฐานะประธาน อินโดนีเซียมีส่วนร่วมกับฝ่ายต่างๆ ของพม่ามากกว่า 110 ครั้ง
แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ไทยกำลังเป็นผู้นำในวิกฤตนี้ ลดทอนความพยายามของอาเซียน และเปลี่ยนศูนย์กลางของการเจรจามาที่กรุงเทพฯ
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน
รัฐมนตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนในการเจรจาอาเซียนบวกสาม ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ข้อพิพาททะเลจีนใต้ และพม่า จะเป็นวาระในการประชุม
“ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สนใจที่จะป้องกันพม่าจากการเข้าร่วมในวงโคจรของจีน” ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Padjadjaran กล่าว
หวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีนเข้าร่วมการประชุมแทน ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศที่ถอนตัวด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ตามการระบุของกระทรวงการต่างประเทศของจีน
หลังการประชุมอาเซียนบวกสาม หวัง อี้ ได้พบกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในการหารือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบหลายเดือน เพื่อหาทางจัดการกับความตึงเครียด.