ผู้ถือหุ้นรายย่อย "ณุศาศิริ" รวมตัวร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบมติบอร์ดอนุมัติขายทรัพย์สิน 1.1 หมื่นล้านบาท เหตุไม่ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น เข้าข่ายปกปิดธุรกรรมหลอกลวง วอนหน่วยงานรัฐดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดความเสียหาย
นายเสรี หัตถะรัชต์ ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนใน บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA เปิดเผยว่า ตน และผู้ถือหุ้นรายย่อยรวม 30 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอความช่วยเหลือจากดีเอสไอ ให้ตรวจสอบการดำเนินการที่เชื่อว่าไม่โปร่งใสของคณะกรรมการ NUSA ที่อนุมัติให้ผู้บริหารขายทรัพย์สินของบริษัทออกไป 6 รายการ เป็นเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 70% ของทรัพย์สินทั้งหมดบริษัท 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อบริษัทอย่างมหาศาล โดยไม่ได้แจ้ง หรือจัดการประชุมให้ผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของบริษัทตัวจริงได้รับทราบ หรืออนุมัติ
ดังนั้นเชื่อว่าเป็นการปกปิดธุรกรรมอันมีสาระสำคัญในการดำเนินงานอาจจะเข้าข่ายหลอกลวงนักลงทุน ละเมิดสิทธิผู้ถือหุ้น และยังเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
“ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ช่วยยับยั้งการกระทำดังกล่าวโดยเร็ว หากเกิดความเสียหายจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยใน NUSA เกือบ 1 หมื่นราย ในจำนวนนี้มีผู้ถือหุ้นมากมายที่เข้ามาลงทุนใน NUSA เพราะเชื่อตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอว่า บริษัทจะเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน จะมีรายได้ที่มั่นคง นักลงทุนก็คล้อยตาม เพราะช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ธุรกิจพลังงานแทบไม่ได้รับผลกระทบ จึงพากันเข้ามาลงทุน แต่มาวันนี้กลับมีมติขายธุรกิจพลังงานทิ้งทั้งหมด โดยไม่แจ้งผู้ถือหุ้น แบบนี้เข้าข่ายหลอกลวงนักลงทุนหรือไม่” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า นอกจากขายทรัพย์สินออกไปครั้งมโหฬาร กลุ่มนักลงทุนรายย่อยไม่เชื่อมั่นในกระบวนการขายทรัพย์สินว่าจะเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา มักถูกหน่วยงานกำกับดูแลทั้งผู้ตรวจสอบบัญชี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรียกชี้แจงบ่อยครั้ง
กรณีล่าสุดที่ผู้บริหาร NUSA นำโครงการอสังหาฯ ของบริษัทไปขายให้บริษัทที่มีญาติตัวเองเป็นกรรมการ ในราคาต่ำกว่าตลาด พอถูก ตลท. เรียกชี้แจงก็อ้างว่า ทำไปเพราะเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยสุจริต ทั้งที่เป็นผู้บริหารมานาน มาอ้างแบบนี้ฟังขึ้นหรือไม่
“เรื่องใหญ่สุดที่จนวันนี้ บริษัทยังตอบคำถามได้ไม่ชัดเจน คือ การเข้าซื้อธุรกิจโรงแรม Panacee Grand Hotel Roemerbad ในประเทศเยอรมนี จ่ายเงินไปแล้ว 711 ล้านบาท จากทั้งหมด 740 ล้านบาท ผู้รับเงินไม่ใช่เจ้าของโรงแรม มันผิดปกติหรือไม่ ภายหลังมาประกาศเปลี่ยนจากซื้อธุรกิจโรงแรม ไปซื้อหุ้นบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงแรมแทน ทั้งที่จ่ายเงินไปแล้ว ผลลัพธ์ตอนนี้ NUSA เลยได้หุ้นบริษัทเยอรมนี ที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 407 ล้านบาท คือได้บริษัทที่หนี้ท่วมเข้ามา ส่วนตัวโรงแรมที่ได้มายังเปิดบริการไม่ได้ เลยไม่มีรายได้ เรื่องนี้สร้างความเสียหายแก่บริษัท และผู้ถือหุ้นอย่างร้ายแรง” นายเสรี กล่าว
ทั้งนี้ เชื่อว่าการดำเนินธุรกรรมหลายรายการที่ผ่านมาอาจเข้าข่ายไม่โปร่งใส จนถูกเรียกชี้แจงบ่อยครั้ง และเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านั้นอาจมีส่วนทำให้ NUSA ขาดทุนติดต่อกันยาวนานถึง 8 ปี มีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 3 พันล้านบาท สร้างความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นมาโดยตลอด