ผู้ว่าแบงก์ชาติสิงคโปร์เชื่อระบบการเงินในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับ CBDC, หนี้สินของแบงก์ที่แปลงเป็นโทเคน และสเตเบิลคอยน์ ขณะที่ในระยะยาวคริปโตเอกชนจะหายไปจากระบบการเงินเนื่องจากไม่สามารถเก็บรักษามูลค่าได้
ราวี เมนอน ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) กล่าวระหว่างร่วมอภิปรายในงานที่จัดโดยธนาคารกลางฮ่องกง และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28 พ.ย.) ว่า คริปโตที่ออกโดยเอกชนไม่ผ่านบททดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเก็บรักษามูลค่าหรือการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน นอกจากนั้นราคาสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้ยังเหวี่ยงอย่างรุนแรงจากการเก็งกำไร ส่งผลให้นักลงทุนมากมายขาดทุนยับ
เมนอนอธิบายว่า สินทรัพย์คริปโตถูกมองเป็นเครื่องมือในการทำกำไรอย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงข้ามกับสินทรัพย์ที่สามารถเก็บรักษามูลค่าได้ที่ผู้คนสามารถนำเงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิตไปลงทุนได้ ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่า ในระยะยาว คริปโตจะหายไปจากระบบการเงิน
ในทางกลับกัน เมนอน ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการปฏิวัติเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ในสิงคโปร์ และล่าสุดได้ประกาศแผนเกษียณหลังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติมายาวนาน 13 ปีนั้น เชื่อว่า ระบบการเงินในอนาคตจะเกี่ยวพันกับสกุลเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC), หนี้สินของแบงก์ที่แปลงเป็นโทเคน และสเตเบิลคอยน์
เขาแจงว่า ถ้าได้รับการกำกับดูแลอย่างดี สเตเบิลคอยน์จะมีบทบาทสำคัญในฐานะสกุลเงินดิจิตอล เช่นเดียวกับ CBDC และหนี้สินของแบงก์ที่แปลงเป็นโทเคน
ผู้ว่าแบงก์ชาติสิงคโปร์ยังบอกอีกว่า ในอนาคตหากได้รับการค้ำประกันโดยพันธบัตรรัฐบาลที่มีมูลค่าสูงหรือเงินสด สเตเบิลคอยน์จะนำไปสู่การใช้งานที่เป็นนวัตกรรม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพ ซึ่งต่างจากคริปโตที่ออกโดยเอกชนที่มีความผันผวนสูง
นอกจากคริปโตแล้ว เมนอนยังกล่าวถึงความจำเป็นในการพัฒนาเครือข่ายบล็อกเชนสำหรับสินทรัพย์ดิจิตอลที่เปิดกว้างมากขึ้นและทำงานร่วมกันได้ โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยรองรับระบบการเงินโลกและสอดคล้องตามระเบียบข้อบังคับที่จำเป็น
ด้วยเหตุนี้ MAS จึงร่วมมือกับ BNY Mellon, JPMorgan, DBS และ MUFG พัฒนา Global Layer One โดยโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลแบบเปิดนี้จะช่วยให้มั่นใจในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนและการเทรดสินทรัพย์ที่แปลงเป็นโทเคนในกองสินทรัพย์ดิจิตอลทั่วโลกอย่างราบรื่น
มุมมองของเมนอนได้รับการตอกย้ำโดย Rajeshwar Rao รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่กล่าวในงานเดียวกันว่า CBDC สามารถตอบรับความต้องการของผู้ใช้ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่มีอยู่ พร้อมไปกับการรับประกันความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย
ทั้งนี้ RBI พยายามขยายฟังก์ชันของโครงการนำร่อง CBDC ของอินเดียให้ครอบคลุมการชำระเงินแบบออฟไลน์ โดย Rao เสนอให้พิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงจากกลไกแบบทวิภาคีเป็นพหุภาคีระหว่างธนาคารกลางของประเทศต่างๆ