xs
xsm
sm
md
lg

เครดิตบูโรเปิดตัวเลขหนี้ไตรมาส 3 เผยหนี้รถ-กลุ่มรับผลกระทบโควิดยังน่าห่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครดิต บูโรเผยภาพรวมเอ็นพีแอลแนวโน้มยังเพิ่ม โดยสินเชื่อรถยนต์ยังน่าห่วงสุดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั้งเอ็นพีแอล-เอสเอ็มที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยสินเชื่อบ้านที่เริ่มเห็นภาพการผิดนัดชำระหนี้โดยเฉพาะในกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้าน พร้อมจับตากลุ่มสถานะบัญชี 21 หลังแบงก์ชาติหมดมาตรการฟ้า-ส้ม

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิต บูโร)
เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลของเครดิต บูโร ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 ปี 2566 มียอดสินเชื่อของสมาชิกเครดิตบูโรในระดับ 13.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ระดับ 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่อยู่ในระดับ 1.03 ล้านล้านบาท เป็นส่วนของเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์มีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 20.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือจาก 1.71 แสนล้านบาท มาเป็น 2.07 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนบัญชี 6.39 แสนบัญชี มาเป็น 6.94 บัญชี เป็นส่วนของเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้าน 1.81 แสนล้านบาท ลดลง 1.7% เอ็นพีแอลสินเชื่อบัตรเครดิต 5.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.6% สินเชื่อบุคคล 2.61 แสนล้านบาท ลดลง 0.8%

สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ในระดับ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.05 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 21.4% เป็นส่วนของสินเชื่อบ้าน 1.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อรถ 2.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5% สินเชื่อเครดิต การ์ด 9.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% สินเชื่อบุคคล 8.6 หมื่นล้านบาท 17.7% ทั้งนี้ เมื่อรวม NPL และ SM แล้วจะอยู่ที่ระดับ 1.55 ล้านล้านบาท โดยอัตราการไหลกลับจาก SM กลับไปเป็นหนี้ NPL หรือ Migration rate ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยเปิดเผยนั้น Migration rate สินเชื่อบ้านอยู่ที่ 22% สินเชื่อรถ 12% สินเชื่อบุคคล 54% และสินเชื่อบัตรเครดิต 57%

นายสุรพล กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นว่าหนี้ที่น่าเป็นห่วงคือหนี้รถยนต์ที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของเอ็นพีแอลและเอสเอ็ม ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ของสินเชื่อรถยนต์เป็นที่เรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากอายุการใช้งานจำกัด ประมาณ 10 ปี ซึ่งหากมีการยืดหนี้ออกไปจะทำให้ไม่คุ้มกับค่าเสื่อมของอายุการใช้งานรถยนต์ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราที่ต่ำ รายได้ยังไม่เพิ่ม ประกอบกับราคาน้ำมันที่ยังสูง แนวโน้มหนี้เสียของกลุ่มสินเชื่อรถยนต์จึงน่าจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ SM ของสินเชื่อบ้านที่สูงขึ้นนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นสินเชื่อของกลุ่มคนรายได้ปานกลางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่สูงถึงระดับก้าวกระโดด เนื่องจาก SM ที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงบางกลุ่ม ขณะเดียวกัน ทางธนาคารพาณิชย์เองก็เร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะหมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินหรือมาตรการฟ้า-ส้มที่จะหมดในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมียอดปรับโครงสร้างหนี้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท

"จากตัวเลข SM ที่เกิดขึ้น หากเรามองรายละเอียดของช่วงอายุของหนี้ SM แล้วจะพบว่า กลุ่มเจนวาย หรืออายุประมาณ 20-39 ปี จะมีสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ 31-90 วัน หรือ SM ในส่วนของสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อเครดิตการ์ด และสินเชื่อบุคคลในระดับสูงเมื่อเทียบกับเจนอื่นๆ ซึ่้งตรงนี้เป็นจุดที่ต้องระวังเช่นกัน"

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกหนี้สถานะบัญชี 21 หรือบัญชีหนี้เสียจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะหมดมาตรการผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสิ้นปีนี้ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวน 5.1 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 2.3 ล้านบัญชีในช่วงต้นปี คิดเป็นจำนวนเงิน 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่อยู่ในระดับ 2 แสนล้านบาท โดยหนี้กลุ่มที่เพิ่มสูงสุดเป็นหนี้รถเพิ่มขึ้น 39.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหนี้สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 9.1% และสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น 11.3%

นายสุรพล กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องกังวลคือหนี้บัญชี 21 จำนวนเงิน 3.9 แสนล้านบาท หรือจำนวน 5 ล้านบัญชี เมื่อหมดมาตรการผ่อนปรนของ ธปท.แล้วจะทำอย่างไร เพราะไม่มีการต่ออายุมาตรการแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องกันสำรองในระดับสูง มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ลูกหนี้ในกลุ่มนี้ซึ่งเคยเป็นลูกหนี้เกรดเอมาก่อน จนกระทั่งเกิดโควิด อาจจะต้องกลับเข้าสู่สถานะหนี้ปกติได้ยากขึ้น หรือหากจะมีการขายออกไป หรือตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์มาดูแลจะเป็นการแก้ปัญหาให้กลุ่มเจ้าหนี้เท่านั้น ลูกหนี้จะต้องเผชิญปัญหาเดิมต่อไป ตรงนี้เป็นอีกจุดที่ควรมีความชัดเจนมากขึ้น

สำหรับการที่รัฐบาลมีวาระแห่งชาติในการแก้หนี้ครัวเรือนนั้น ผู้จัดการใหญ่เครดิต บูโรกล่าวว่า ในเบื้องต้นมองว่า รัฐบาลโฟกัสใน 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้ข้าราชการที่อยู่ในระบบการหักเงินเดือนนำส่ง และหนี้นอกระบบและในสถาบันการเงินนั้นคงจะต้องมีการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาตรการที่ออกมาครอบคลุม เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก จึงต้องดูมาตรการที่ทางคณะทำงานจะออกมาอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น