บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program) มูลค่ารวมไม่เกินสามแสนล้านบาทของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ‘F1(tha)’
การปรับลดอันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage ของ SCC จะยังคงอยู่ในระดับที่เกินกว่า 3.5 เท่า ในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินกว่าระดับที่สอดคล้องสำหรับอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ อัตราส่วนหนี้สินที่สูงนี้เกิดจากการฟื้นตัวของ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ช้ากว่าที่ฟิทช์คาด เนื่องจากความท้าทายอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของ SCC
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัท ได้แก่ กลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียน สถานะผู้นำตลาดในแต่ละผลิตภัณฑ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
ทั้งนี้ SCC มีการการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ช้า โดยฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ SCC จะฟื้นตัวไปอยู่ที่ระดับ 3.9 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และ 5.8 หมื่นล้านบาทในปี 2567 จากระดับ 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดย EBITDA net leverage จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.9 เท่าในปี 2566 ก่อนที่จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 4.3 เท่าในปี 2567 (ปี 2565 อยู่ที่ 5.7 เท่า) ฟิทช์คาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 3.5 เท่าในปี 2568 แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านลบ ซึ่งรวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศจีนที่อาจจะช้ากว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และความต้องการของบรรจุภัณฑ์