โบรกฯ ประเมินมีมุมมองเป็นลบกลุ่มค้าปลีก หลังบอร์ดเงินดิจิทัลเตรียมปรับเกณฑ์แจกเงินเฉพาะกลุ่ม และส่งผลเป็น Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้น ที่มองอาจกระทบการเติบโตลดลง กระทบเป้าจีดีพี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Domestic อื่นๆ อย่างธนาคารพาณิชย์ ท่องเที่ยว ขนส่ง และอาหาร ถึงจะส่งผลดีต่อหนี้สาธารณะประเทศ
ASPS มองเป็น Sentiment เชิงลบต่อตลาด ห่วงทำจีดีพีสะดุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สรุปการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทล่าสุด โดยมีแนวทางปรับเงินดิจิทัลตัดสิทธิเงินเดือน 2.5-5 หมื่นบาท หรือแจกเฉพาะถือบัตรคนจน โดยจะชงข้อเสนอ 2 ทางเลือก คือ 1.จำกัดเฉพาะผู้ถือบัตรคนจนที่มีอยู่ประมาณ 15-16 ล้านคน และ 2.ตัดกลุ่มที่มีรายได้สูงออกไป โดยกลุ่มนี้มีข้อเสนอ 2 ทางเลือก คือ
2.1 ตัดคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 2.5 หมื่นบาท และหรือมีเงินฝาก 1 แสนบาท เมื่อตัดกลุ่มนี้ออกไปจะเหลือคนที่จะได้รับแจก 43 ล้านคน
2.2 ตัดคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 5 หมื่นบาท และหรือมีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท เมื่อตัดกลุ่มนี้ออกไปจะเหลือคนที่ได้รับแจก 49 ล้านคน
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.เอเซียพลัส จำกัด ระบุว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็น Sentiment เชิงลบทั้งจากความคาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 มีโอกาสลดลง จากปัจจุบัน ธปท. คาด GDP ปี 2567 เติบโตได้ 4.4% และเป็น Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นที่อาจคาดหวังการเติบโตลดลงได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Domestic เช่น กลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก ท่องเที่ยว ขนส่ง อาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ดี อีกมุมอาจช่วยลดความกังวลเรื่องการกู้เงินเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.8% รวมถึงหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ระดับกว่า 90% รวมถึงความกังวลการปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งของสถาบันการเงิน หนุนให้ค่าเงินบาทในระยะถัดไปมีโอกาสชะรอการอ่อนค่าได้
ทั้งนี้ นักลงทุนติดตามความคืบหน้าประเด็นดิจิทัลวอลเล็ตอย่างใกล้ชิด เพราะกระแสดังกล่าวมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น และปัจจุบันยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจน
ดาโอ-พาย มองเชิงลบหุ้นค้าปลีก CRC-CPN-HMPRO กระทบ
ด้าน บล.ดาโอ เปิดเผยว่า มีมุมมองเป็น sentiment เชิงลบต่อกลุ่มค้าปลีก (Commerce) จากการเพิ่มเกณฑ์การให้สิทธิเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จากเดิมที่ให้ผู้มีอายุเกิน 16 ปี เป็นเกณฑ์ตามรายได้ ทำให้มีผู้ที่สามารถใช้สิทธิได้ลดลง โดยมองว่าหากเป็นไปตามเกณฑ์แรกจะเป็นผลลบต่อ CRC (ซื้อ/เป้า 48.00 บาท) CPN (ซื้อ/เป้า 80.00 บาท) และ HMPRO (ซื้อ/เป้า 17.20 บาท) มากที่สุด
แต่อย่างไรก็ดี หากเป็นเกณฑ์ที่สอง มองว่าจะยังได้รับผลบวกอยู่ อย่างไรก็ตาม มองว่าแม้มีการปรับเกณฑ์การได้รับสิทธิลง CPALL (ซื้อ/เป้า 80.00) CPAXT (ซื้อ/เป้า 40.00 บาท) DOHOME (ถือ/เป้า 10.00 บาท) และ GLOBAL (ถือ/เป้า 17.00 บาท) จะได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด
ส่วน บล.พาย ระบุว่า โครงการดังกล่าวจะใช้แหล่งที่มาของเงินจะมาจากงบประมาณเป็นหลัก รวมถึงการกู้เงินหลากหลายวิธี ส่วนการกู้ธนาคารออมสินจะเป็นทางเลือกสุดท้าย มองปัจจัยดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันบ้างต่อกลุ่มค้าปลีก (BJC CRC CPALL HMPRO) เนื่องจากเสมือนว่าวงเงินในการกระตุ้นมีแนวโน้มจะลดลง และอาจไม่สามารถใช้กับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม มอง CPALL จะรับผลบวกมากสุดจากการที่ มี Makro เชื่อว่าจะเป็น Supplier ขนาดใหญ่ให้กับร้านค้าขนาดกลาง-เล็ก นอกจากนี้ อาจ สร้าง Downside ต่อ GDP ปี 67 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ที่ 4.4% ตามวงเงินกระตุ้นที่น้อยลง