นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนสูงมากในช่วงสั้น Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีสินทรัพย์เสี่ยงตอบสนองต่อข่าวทุกอย่างเป็นข่าวร้าย ซึ่งในเชิงของ Asset Allocation ในช่วงสั้น 1-2 เดือน แนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรือเทอมฟันด์ และหาจังหวะลงทุนในหุ้นไทยที่มีปันผลสูง เนื่องจากราคาหุ้นได้ลดลงมากแล้วทำให้หุ้นที่มีปันผลสูงจะได้รับฟันด์โฟลว์ไหลเข้า เมื่อเหตุการณ์ตะวันออกกลางคลี่คลาย ในเชิงของหุ้นที่จะ outperform จะมีลักษณะ low Beta เงินปันผลในอนาคตสูง (Forward Dividend) และค่า P/E ต่ำ
"ในปี 66 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบกว่า 13% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นผ่านการขึ้นดอกเบี้ยหลายๆ ครั้งของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี สภาพคล่องภายในที่ลดลงอย่างมาก ความไม่มีเสถียรภาพของปัจจัยทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยกว่า 1.7 แสนล้านบาท เกือบ 84% ของเม็ดเงินที่ไหลเข้าในปี 65 แต่ซื้อพันธบัตรเบาบางแค่ 2 หมื่นล้านบาท" นายวิศิษฐ์ กล่าว
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นในปี 67 มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยที่เป็นบวกจาก Valuation ใน Forward P/Book Value ที่ถูกเป็นอันดับ 3 ในรอบ 15 ปี การเติบโตของ GDP ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเติบโตลดลง ดอกเบี้ยทั่วโลกเริ่มถึงจุดอิ่มตัว และจะปรับตัวลดลงในกลางปี 67 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรต่อหุ้นที่เติบโตกว่า 15% ในปี 67 เมื่อเปรียบเทียบติดลบ 5% ในปี 66
"หุ้นไทยจะ outperform หุ้นโลก เนื่องจากการเติบโต GDP ของไทยจะดีกว่าค่าเฉลี่ยหุ้นโลก Valuation หุ้นไทยยังคงไม่แพงในแง่ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี และในเชิง Earning Yields Gap (ส่วนกลับของ P/E กับผลตอบแทนพันธบัตร) โดยคาดการณ์ดัชนี SET index เป้าหมายในปี 67 ที่ระดับ 1,650 จุด โดยอาศัยสมมติฐาน EPS 2025 ที่ 113 บาท และ Bond Yields 10 ปีที่ 3.3% แต่ถ้าเป็น Forward PE ที่ 13.4x และดอกเบี้ย RP ที่ 2.25% จะได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1,560 จุด" นายวิศิษฐ์ กล่าว
ปีหน้านักลงทุนต่างชาติจะขายตลาดหุ้นไทยน้อยลง เนื่องจากปี 66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 1.6-1.7 แสนล้านบาท หลังจากเป็นฝ่ายซื้อสุทธิกว่า 2 แสนล้านบาทในปี 65 ถือได้ว่านักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิกว่า 8 แสนล้านบาทในรอบ 13 ปี ตั้งแต่การใช้ QE เป็นต้นมา
นอกจากนี้ มองว่า ในปี 67 นักลงทุนจะเป็นฝ่ายซื้อตราสารทุนสุทธิ แต่จะขายตราสารหนี้สุทธิ โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรไทยประมาณ 9.4 แสนล้านบาท หรือ 11.6% และน้ำหนักของพันธบัตรประเทศไทยใน JP Morgan Local Government Bond index (GBI-EM GD) อยู่ที่ 10% แต่ในช่วงระยะเวลา 10 เดือน นับตั้งแต่ 28 มิ.ย.67 น้ำหนักของพันธบัตรประเทศอินเดียจะถูกรวมเข้าคำนวณในดัชนี อาจจะทำให้ Fund Flow ออกจากพันธบัตรไทย 1.7 แสนล้านบาท เพื่อถูกแทนที่โดยน้ำหนักการลงทุนของพันธบัตรประเทศอินเดีย
การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว มองดอกเบี้ย Fed Fund ว่า จะเริ่มจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในไตรมาส 3 ปีหน้า เมื่อ Fed หยุดการขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนในทางบวก ในเอเชียรวมทั้งในประเทศไทยมองเงินเฟ้อปี 67 เริ่มกลับสู่ระดับ 2% ใกล้เคียงกับระดับการเกิด COVID และเริ่มกลับสู่ระดับที่สบายใจของธนาคารกลางทั่วเอเชีย ซึ่งเป็นภาวะที่เปลี่ยนจากเงินเฟ้อสู่ระดับ Low - flation
ในส่วนของ Bond Yields พันธบัตรของสหรัฐฯ มองว่าจะเข้าสู่ระดับ Peak ในไตรมาส 4 เช่นเดียวกัน Fed Fund ของสหรัฐฯ จะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 4/66 ส่วนราคาน้ำมันที่ระดับราคา 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะนำไปสู่ Demand Destruction หรือภาวะน้ำมันแพงนำไปสู่การใช้น้ำมันที่ลดลง ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อยู่ใน Zone ราคาแพงหรือมูลค่าเกินความเป็นจริง แต่จะยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ
นายวิศิษฐ์ คาด Fund Flow จะไหลกลับมาตลาดหุ้นไทย หลังจากบอนด์ยิลด์ปรับตัวลง ซึ่งคาดว่าจะพุ่งสูงในไตรมาส 4/66 และหากสงครามในตะวันออกกลางไม่ยืดเยื้อ Fund Flow จะเข้าตั้งแต่ต้นปี 67 เนื่องจากนโยบายแจกเงิน Digital wallet จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปีทิศทาง Fund Flow ขึ้นอยู่กับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อีก 2 ครั้งในปีนี้ รวมทั้งสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ ในปีนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 84% ของปีที่แล้วเป็นการถือครองต่ำกว่าปกติ (Under-Owned) และอานิสงส์ของ Fed Fund ที่ลดลง โดยมองว่าจะปรับลดลง 50 BPS ในครึ่งปีหลัง ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าตลาดทุนไทย
คาดการณ์ดัชนี SET Index ในปี 66 ในเชิง Earning Yields Gap 4.2 เท่า ได้แนวรับ 1,342 จุด เป็นแนวรับที่น่าจะรับอยู่ โดยอาศัยสมมติฐาน EPS 2024 ที่ 99.6 บาท และบอนด์ยิลด์ 10 ปีที่ 3.25% และปีนี้อัปไซด์ของ SET อยู่ที่ระดับ 1,460 จุด ซึ่งยังไม่รวมสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางขยายตัว และเป้าหมายดัชนีในปี 67 อยู่ที่ระดับ 1,560-1,650 จุด ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด คาดดัชนีอยู่ที่แนวรับ 1,350 จุด
ขณะที่ในปี 67 คาดการณ์ GDP ไทยโต 3.6% สูงกว่าประเทศอื่น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศสูงขึ้น รวมทั้งมาตรการ Digital wallet ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจส่งผลให้ Bond Yield ในไทยสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการเงินที่สูงตามไปด้วย หุ้นกลุ่มที่แนะนำในปี 67 ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเติบโตเห็นได้ชัดโดยเฉพาะพื้นที่ EEC กลุ่มโทรคมนาคม แม้ว่าบางบริษัทขาดทุน แต่การแข่งขันต่างๆ ลดลงจากการควบคุมกิจการ และกลุ่มการแพทย์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีนี้อาจจะมีบริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้อีก จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังไม่ดีนัก
*ปัจจัยบวก-ลบ-unknown ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย
ปัจจัยบวก
1.คาดการณ์การเติบโตของกำไรต่อหุ้นหรือ EPS ของหุ้นไทยเติบโตที่ 15% ในปี 67 สู่ระดับ 113 บาทต่อหุ้น จากที่เติบโตติดลบ -5.4% ในปี 66
2.มีโอกาสมากกว่า 60% ที่ Fed Fund Rate ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ 5.25-5.5% และมีโอกาสต่ำกว่า 40% ที่ Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้
3.คาดการณ์ GDP ไทยเติบโตที่ 3.6% ในปี 67 เมื่อเปรียบเทียบกับ 3% ในปี 66 ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น จีน สหรัฐฯ Euro ต่างมีการเติบโตที่ถดถอยในปี 67 เมื่อเปรียบเทียบ 66
4.ธปท.มีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อแนวโน้มอุปสงค์ภายในประเทศ สาเหตุหลักจากมาตรการลดค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการบริโภค
5.อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริง (เมื่อลบเงินเฟ้อแล้ว) หรือ Real Bond Yields ของไทยจะสูงกว่าของสหรัฐฯ เกือบ 0.5% ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้น
ปัจจัยลบ
1.อัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกยังต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับขึ้นได้ Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯ จะต้องปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3% ต้นๆ จากระดับปัจจุบันเกือบ 5%
2.มาตรวัดความเสี่ยงตลาดหุ้นผ่าน VIX index บ่งบอกว่าตลาดหุ้นโลกยังไม่ได้ Pricing ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเต็มที่ (ยังไม่ถึงครึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ indicators สมัย COVID-19)
3.ความไม่สงบสุขในตะวันออกกลางถ้ายืดเยื้อ และเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเหมือนปี 54 (ค.ศ.2011) อาจจะเป็นสาเหตุให้หุ้นใน Emerging Market ปรับตัวลดลง 9% ใน 12 เดือน
4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะทำให้ Bond Yields ในไทยสูงขึ้น
ปัจจัยที่เป็น unknown
1.ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปี 67 ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไต้หวัน
2.โอกาสที่การสู้รบระหว่างฮามาสและอิสราเอลที่จะขยายวง กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล เช่น Hezballoh เข้าร่วมและอาจนำไปสู่สงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน เศรษฐกิจโลกเปราะบางเกินกว่าที่จะรับมือสถานะ "สองสงคราม"