xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 36.29 ติดตามตัวเลขค้าปลีกสหรัฐฯ-สถานการณ์อิสราเอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ต.ค.) ที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.40 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 36.10-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหว sideway (แกว่งตัวในช่วง 36.23-36.31 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด หลังเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจยังคงเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น จนทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาพัฒนาการของสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ขณะเดียวกัน หากผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ในกรณีที่รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้าง (หากความเสี่ยงสงครามไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเงินบาทฝั่งแข็งค่าได้

อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความผันผวนอยู่ โดยเรายังไม่เห็นการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย “อย่างต่อเนื่อง” ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะทำให้เงินบาทยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ เรามองว่าควรระมัดระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น.ตามเวลาในประเทศไทย โดยหากยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง ตามคาด หรือออกมาแย่กว่าคาด อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมองว่าเฟดคงไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบ Higher for Longer ได้ตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งในภาพดังกล่าวเราอาจเห็นการปรับตัวอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ และการย่อตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท หรือทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

ในทางกลับกัน หากยอดค้าปลีกออกมาสูงกว่าคาดอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือเฟดคงไม่รีบลดดอกเบี้ยลงและอาจลดดอกเบี้ยลงได้แค่ตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งภาพดังกล่าว จะหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวนด์แข็งค่าขึ้นมา พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ไม่ยาก และกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่าโซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับแรกจะอยู่แถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์

ในฝั่งตลาดบอนด์ การทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของบรรดาผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.70% ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยิลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะแน่ใจว่า เฟดอาจไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบ Higher for Longer ได้ (ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงหรือแย่ลงชัดเจน) ทั้งนี้ เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยิลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน แม้ว่าความเสี่ยงสงครามยังคงมีอยู่ แต่ผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์สงครามล่าสุดมากนัก ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงในช่วง Earnings Season ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อลงสู่ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 106.1-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง แต่ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ติดโซนแนวต้าน 1,935-1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซนแนวต้านได้อีกครั้ง เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจเข้ามาทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวสามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น