xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากนิรันดร์กาล “หุ้นคาทุ่ง” THL / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THL เดินทางมาถึงวาระสุดท้ายแล้ว หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีประกาศเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าต่ำกว่าศูนย์ และไม่สามารถดำเนินการกลับมาซื้อขายได้ในเวลาที่กำหนด
เส้นตายการตะเพิด THL พ้นจากตลาดหุ้น กำหนดในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ แต่จะเปิดให้มีการซื้อขายหุ้นครั้งสุดท้าย หรือนัดสั่งลา ระหว่างวันที่ 10-19 ตุลาคมนี้

THL เวียนว่ายตายเกิดในตลาดหุ้นมาแล้วถึง 3 รอบ โดยเป็นหุ้นเก็งกำไรร้อนแรง มีการสร้างข่าวกระตุ้นราคาเป็นระยะ ปลุกเร้าให้แมลงเม่าแห่กันเข้าไปเล่น และเจ็บตัวถ้วนหน้า เพราะสุดท้ายบริษัทเกิดปัญหาฐานะทางการเงิน ผลประกอบการย่ำแย่ จนถูกตั้งสมญา “หุ้นคาทุ่ง”

THL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2524 โดยเป็นหุ้นในกลุ่มเหมืองแร่ คู่แฝดของบริษัท อ่าวขามไทย จำกัด ซึ่งเพิกถอนออกจากตลาดมานานแล้ว แต่ THL ไม่ยอมตายง่ายๆ

เพราะเมื่อมีปัญหาถูกพักการซื้อขาย ต้องย้ายเข้ากลุ่มฟื้นฟูกิจการ สามารถแต่งตัวใหม่ โดยปรับโครงสร้างการบริหารและโครงสร้างผู้ถือหุ้นจนได้กลับมาซื้อขายใหม่

แต่การอนุมัติให้ THL กลับเข้ามาซื้อขายใหม่ เหมือนการปล่อยผีมาหลอกชาวบ้านซ้ำซาก เพราะพฤติกรรมตัวหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง ยังมีการสร้างข่าวและปล่อยข่าว วาดฝันถึงแนวโน้มผลประกอบการบริษัทที่สวยหรู ทำให้นักลงทุนกรูเข้าไปเก็งกำไร

แต่สุดท้ายเจ็บกันตามเคย ขณะที่บริษัทต้องกลับเข้ากลุ่มฟื้นฟูกิจการ พักการซื้อขายไปยาวนาน แต่ยังฟื้นคืนชีพกลับเข้ามาสร้างความเสียหายให้นักลงทุนถึง 3 รอบ

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ THL ยุคแรกประกอบด้วย บริษัท นิว ไชน่า รีซอร์สเซส จำกัด ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 สัดส่วน 25.50% ของทุนจดทะเบียน สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 10.34% ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ในสัดส่วน 9.47% และกระทรวงการคลังถือหุ้น 5%

แต่หลังปี 2540 THL ประสบปัญหาด้านฐานะการเงิน ถูกพักการซื้อขาย และย้ายเข้ากลุ่มฟื้นฟูกิจการ โดยใช้เวลาปรับโครงสร้างหนี้อยู่หลายปี รวมทั้งการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ก่อนหุ้นได้รับอนุมัติให้กลับเข้ามาซื้อขายอีกครั้ง

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ THL ยุคที่ 2 ประกอบด้วย บริษัท สินธนา โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 15.76% ของทุนจดทะเบียน พารอน รีซอสเซสส์ อินค์ ถือหุ้น 8.47% นายแทน ลัง หัว ถือหุ้น 7.45% และธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 5%

กลับมาซื้อขายได้ไม่กี่ปี THL ก็ประสบปัญหาเดิมอีก และใช้เวลาฟื้นฟูกิจการหลายปี จนหุ้นได้รับอนุมัติให้กลับเข้ามาซื้อขายเป็นรอบที่ 3

โครงสร้างผู้ถือหุ้น THL ล่าสุด กลุ่มเจียมวิจิตรกุล หรือกลุ่มนางศศิร์อร เจียมวิจิตรกุล และเป็นที่รู้จักในฉายา สีกาจุ๋ม คนสนิทอดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธ์วงศ์ที่มีคดีเงินทอนวัด โดยสีกาจุ๋มเคยถูกออกหมายจับคดีพาพระพรหมเมธีหนีออกนอกประเทศ

ผู้บริหาร THL พยายามดิ้นรนกลับมาซื้อขายในรอบที่ 4 หลังจากถูกตลาดหลักทรัพย์จับเข้ากลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน และหุ้นถูกพักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ราคาปิดครั้งสุดท้าย 46 สตางค์

แต่ความพยายามปิดฉากลงแล้ว ซึ่งหมายถึงนักลงทุนได้สิ้นเวร หมดกรรมกับหุ้น THL เสียที ไม่ต้องถูกหลอกหลอนเป็นคำรบที่ 4 เพียงแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 3 พันรายที่ติดค้างอยู่ยอดดอยจะหาทางออกอย่างไรเท่านั้น

เพราะถ้าจะถือหุ้นต่อก็มองไม่เห็นอนาคตบริษัท แต่ถ้ายอมขายขาดทุนจะขายหุ้นได้ราคาเท่าไหร่ จะมีใครอยากเก็บหุ้น THL ไว้ ในเมื่อถูกตะเพิดออกจากตลาดหุ้นโดยถาวรแล้ว

ฉากสุดท้ายของ THL ปิดไม่สวยนัก เพราะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 3 พันชีวิตต้องร่วมรับชะตากรรมไปด้วย หมดเนื้อหมดตัวกับหุ้น “คาทุ่ง”








กำลังโหลดความคิดเห็น