SCB CIO มองเฟดส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง อาจปรับลดลงไตรมาส 3/2567 ส่งผลกดดันกลุ่มประเทศหรือธุรกิจที่มีหนี้สูง อาจมีปัญหาสภาพคล่องหรือถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ แนะหลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้นกู้หรือหุ้นกลุ่มนื้ เน้นลงทุนผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ซึ่งออกโดยสถาบันการเงินในไทย รวมถึงลงทุนหุ้นกู้ Investment grade เนื่องจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทย ยังกว้าง หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ High yield กลุ่มธุรกิจที่ก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาฯ จีน พร้อมปรับมุมมองหุ้นจีน A-share และ EM REITs เป็น Neutral (ถือ) และแนะรอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ
นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ครั้งล่าสุด ได้ส่งสัญญาณการคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง และปรับลดลงช้า โดยอาจจะต้องรอจนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่น่าจะเป็นแบบจัดการได้ (Soft Landing) โดยล่าสุด Fed คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 จะเติบโต 1.5% ชะลอลงจากปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.1% ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รวมถึงเศรษฐกิจในอาเซียน และไทย ที่พึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปแม้มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่มาจากฐานต่ำ จึงทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ จากแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คงอยู่ในระดับสูงและลดลงช้า ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงได้เร็วมากกว่า ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มดำเนินต่อไป และเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงิน Emerging markets อาจอ่อนค่า โดยเฉพาะประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดฟื้นตัวช้า และยังมีแนวโน้มขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น เช่น ไทย โดยค่าเงินบาทจะยังมีแรงกดดันอ่อนค่าในช่วงที่ยังมีความกังวลเรื่องการขาดดุลการคลังในระยะข้างหน้า แต่ค่าเงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว โดยเราปรับมุมมองค่าเงินบาทเป็น 34.5-35.5 บาท/ดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2566
พร้อมกันนั้น เรายังคงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มประเทศ/ธุรกิจที่มีหนี้สูง ซึ่งอาจเกิดปัญหาสภาพคล่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงอาจถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดอันดับลงได้ นอกจากนี้ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทยที่ยังมีแนวโน้มสูงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า เรายังคงแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ หรืออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ สรอ.-บาท ซึ่งออกโดยสถาบันการเงินในไทย เนื่องจากในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนจากการลดดอกเบี้ยช้าของ Fed เราเชื่อว่าสินทรัพย์เสี่ยงยังคงมีความผันผวนสูง ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทยยังมีแนวโน้มอยู่ในลักษณะกว้างต่อไป
ในส่วนของการลงทุนในพันธบัตร/หุ้นกู้ เรายังคงเน้นการลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของ Fed ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาวทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูง ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้นอีก จึงแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกู้ High yield ในกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน
โดยประเทศส่วนใหญ่ยังมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับสูงและลดลงช้า เป็นผลจากการออกมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในช่วง COVID-19 ขณะที่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พบว่า จีนอยู่ที่ 64% และไทย 91% ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะไทยที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน สำหรับหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP พบว่า จีน อยู่ที่ 132% และเวียดนาม 128% โดยหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นเร็วและอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจของไทยอยู่ที่ 80% เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากที่เคยเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19
พร้อมกันนั้น เราได้ปรับมุมมองการลงทุนบนหุ้นจีน A-share เป็น Neutral โดยเรามองว่า ถึงแม้ดัชนีหุ้น A-share จะมีมูลค่า (Valuation) ค่อนข้างถูก (forward P/E อยู่ที่ 10.9x, -1 s.d. เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 5 ปี) และมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการฝั่งการเงิน การคลัง ภาคอสังหาฯ และค่าเงินหยวน แต่ดัชนีมีแนวโน้มเคลื่อนไหวกรอบจำกัด ในระยะ 3-6 เดือนค่อนข้างจำกัดจาก sentiment ของนักลงทุนจีนที่ยังซบเซา และแรงขายสุทธิหุ้นจีนของต่างชาติ ประกอบกับความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ ทั้งกับสหรัฐฯ และยุโรป โดยเราประเมินว่าหุ้นจีน A-share มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ฟื้นตัวได้ในกรอบจำกัด จนกว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังปรับมุมมองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในตลาดเกิดใหม่ หรือ EM REITs เป็น Neutral เช่นกัน โดยแนะนำให้เลือกลงทุนรายตัว (selective buy) เป็นหลัก เนื่องจากกลุ่ม REITs เอเชีย หรือ Asian REITs เผชิญแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ REITs ไทยยังเผชิญแรงขายจากกองทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Fund of property funds) อย่างไรก็ดี Valuation ยังอยู่ในระดับน่าสนใจทั้งในแง่ของราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี (PBV) อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend yield) และส่วนต่างของผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (Yield Spread) ด้าน REITs ของสิงคโปร์พบว่า Yield Spread อยู่ในระดับที่ไม่น่าสนใจ
SCB CIO แนะนำให้รอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ โดย หุ้น Big-Tech ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) มากที่สุด 7 ตัวแรกในดัชนี S&P 500 และเป็นตัวชี้นำผลตอบแทนการลงทุนในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่หุ้นที่เหลือของดัชนีเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 5% เท่านั้น เราจึงมองว่า Valuation ของหุ้น Big-Tech 7 ตัว ได้สะท้อนกำไรที่ดีกว่าคาดไปพอสมควรแล้ว และมีโอกาสที่จะปรับฐานเข้าสู่ค่าเฉลี่ยของตลาด โดยล่าสุด Trailing P/E และ Forward P/E ของ Big Tech 7 ตัว อยู่ที่ 60.1x และ 36.1x ขณะที่ Trailing P/E และ Forward P/E ของ S&P500 อยู่ที่ 24.7x และ 19.5x ตามลำดับ โดยเราประเมินว่าแม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ Valuation ค่อนข้างตึงตัว จึงแนะนำให้รอ Valuation ถูกลงมากกว่านี้ค่อยเข้าทยอยสะสม