นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4/66 ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวและจะฟื้นตัวเต็มที่ในปี 67 หลังการเมืองมีเสถียรภาพ อีกทั้งความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ทำให้คาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง
ประเมินเป้าหมายดัชนี SET Index สิ้นปี 66 ไว้ที่ 1,650 จุด มีอัปไซด์ 100 จุด ซึ่งไตรมาส 4/66 จุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ที่ 1,500-1,550 จุด ผลตอบแทนที่คาดหวังอยู่ที่ 5-7% ขณะที่หากมีกรณีที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ คาดว่าดัชนีอาจจะปรับตัวลงมาอยู่ที่แนวรับ 1,450 จุด
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4/66 มาจากการเผชิญ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจที่จะชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized slowdown) โดยที่ผ่านมาภาคการผลิตทั่วโลก (โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว) ที่วัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Manufacturing PMI) หดตัวมาโดยตลอด ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ประกอบกับความต้องการสินค้าต่างๆ เริ่มหมดลงทำให้ภาคการผลิตมีปัญหา และในปัจจุบันภาคบริการเริ่มมีปัญหาแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากดอกเบี้ยสูง
2.ดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for longer) ในช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วลดลงมาพอสมควรจากเงินเฟ้อภาคการผลิตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปเงินเฟ้อจะลดลงยากมากขึ้น เนื่องจากเป็นเงินเฟ้อในส่วนภาคบริการ นอกจากนั้นราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปกดลงได้ยากเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ธนาคารกลางต่างๆ จำเป็นต้องคงดอกเบี้ยยาวนานขึ้นซึ่งจะยิ่งกดดันเศรษฐกิจ โดยคาดดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ระดับปัจจุบันที่ 5.4% จนถึงสิ้นปี
3.ความแตกต่างระหว่างสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นโดยเฉพาะยุโรปและจีนที่จะชะลออย่างมีนัยสำคัญ (US and The Rest) โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ทำให้การจับจ่ายยังเติบโตดี แต่ในระยะต่อไปการเงินที่มีปัญหามากขึ้น จะกระทบต่อการใช้จ่ายของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ด้านเศรษฐกิจของยุโรปจะยิ่งเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย จากนโยบายการเงินที่ตึงตัว ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงจะซึมยาวและเข้าสู่ทศวรรษที่หายไป เช่นเดียวกับญี่ปุ่นเมื่อช่วงทศวรรษ 1990
สำหรับเศรษฐกิจไทยปัจจุบันชะลอตัวลงมาก แต่อนาคตมีความหวังจากความชัดเจนทางการเมือง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 66 เป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทำให้ GDP โตเพิ่มขึ้นอีก 1% คาดว่า GDP ปี 67 จะขยายตัวได้ 4.1% (เทียบกับประมาณการเดิมที่ 3%) จากปี 66 ที่ขยายตัว 2.7%
อีกทั้งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทที่อ่อนลงจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องขึ้นดอกเบี้ย จากปัจจุบัน 2.25% เป็น 2.75% จากนั้นคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ย ซึ่งบริษัทคาดการณ์เงินบาทเฉลี่ย 35 บาทต่อดอลลาร์ในปี 66 และ 36 บาทในปี 67 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของรัฐบาล ประกอบด้วย ประเด็นการบริหารจัดการทางการเมืองในรัฐบาล อีกทั้งความยากในเชิงปฏิบัติของนโยบายทางเศรษฐกิจ รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่ง
ปัจจัยที่ทำให้คาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดไทยอีกครั้ง พิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน การเสร็จสิ้นการปรับลดอันดับเครดิต ผลประกอบการของภาคธุรกิจ และ GDP รวมถึงนโยบายการเงินที่เริ่มลดระดับความตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งความชัดเจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยว โดยมาตรการวีซ่าฟรีเริ่มวันที่ 25 ก.ย.เป็นวันแรก จับตานักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ซึ่งตามคาดการณ์นักท่องเที่ยว ปี 66 อยู่ที่ 28 ล้านคน และ 35 ล้านคนในปี 66
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ภัยธรรมชาติ ด้วยระดับน้ำที่ต่ำและฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลสำคัญ การเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของเกษตรกรและราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งกรณีที่รัฐบาลเลือกที่จะกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจส่งผลต่อความเข้มแข็งทางการคลัง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
กลยุทธ์การลงทุน เน้นไปที่หุ้นที่กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือทำจุดต่ำสุดแล้ว และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นหุ้นวัฏจักรที่มีความสัมพันธ์กับการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภายในประเทศสูงซึ่งจะได้รับโมเมนตัมเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของกำไร เช่น หุ้นกลุ่มขนส่ง ธนาคารพาณิชย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ โดยหุ้นเด่นในไตรมาส 4/66 ได้แก่ AOT BCH CRC KCE และ KTB ส่วนหุ้นกลุ่มเกษตรยังมีความกังวลผลกระทบจากเอลนีโญ และกลุ่มปิโตรเคมี จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน
นายพสุวุฒิ วิไลนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกองทุนส่วนบุคคล กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจภายในของจีน เงินเฟ้อระลอกใหม่ รวมถึงดอกเบี้ยโดยรวมของโลกยังอยู่ในระดับสูง การลงทุนจึงยังเป็นลักษณะการลงทุนแบบระมัดระวัง มุ่งเน้นคัดเลือกหุ้นของกิจการที่ดีเป็นรายตัว
ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วกว่าประเทศไทย เช่น เวียดนาม ที่มีประชากรเกือบ 100 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก ส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงถึง 6-7% ต่อปีสูงกว่าประเทศไทยถึง 2 เท่าตัว และอินโดนีเซีย ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 270 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ และถึงแม้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ยังคงเติบโตด้วยอัตรา 5% ต่อปี ทั้งสองประเทศได้รับเม็ดเงินจากบริษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานผลิตเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเม็ดเงินจากการลงทุนทางตรงในปีที่แล้วของประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียนั้นสูงคิดเป็น 2 และ 4 เท่าเมื่อเทียบกับของประเทศไทยตามลำดับ
อีกทั้งประชากรของทั้งสองประเทศยังเป็นวัยทำงานมากถึง 50-60% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และกลุ่มคนวัยดังกล่าวกำลังย้ายจากภาคการเกษตรเข้ามาในภาคอุตสาหกรรม และอยู่อาศัยในตัวเมืองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้รายได้ต่อหัวปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของประชากรคนชั้นกลาง ได้แก่ กลุ่มสิ่งของอุปโภคและบริโภคต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าจาก ผ่านร้านค้าทั่วไป (Traditional Trade) เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยของประชาชนทั่วไปซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำและสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต
"การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเลิศมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นักลงทุนส่วนใหญ่กลัวกับข่าวสารต่างๆ ในระดับมหภาคที่เป็นแง่ลบ จนเกิดการขายหุ้นออกมาในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นในระยะยาว เช่น ความกลัวโรคระบาดโควิดในปี 63 ความกลัวอัตราเงินเฟ้อที่สูงและการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในปี 64-65 และความกลัวภาพเศรษฐกิจถดถอยในปี 66 ซึ่งส่วนตัวมองว่ากลับเป็นโอกาสลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวมากกว่าหากเราสามารถเลือกลงทุนในหุ้นของกิจการได้ถูกตัวและเข้าซื้อในจังหวะที่คนอื่นกำลังกลัวตลาดหุ้น" นายพสุวุฒิ กล่าว