นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 ก.ย.) ที่ระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.55 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.85 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.52-36.76 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลงหนัก ซึ่งเราคาดว่าโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.50% สวนทางกับที่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คาด (แต่เป็นไปตามที่เราคาด) แต่ไม่สามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ยังคงกดดันค่าเงินบาท คือ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดบอนด์ที่อาจยังคงดำเนินต่อไปได้บ้าง หลังบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อทำจุดสูงสุดใหม่ ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้เราต้องปรับมุมมองใหม่และประเมินแนวต้านที่เป็นไปได้ของเงินบาท รวมถึงจุดอ่อนค่าสุดของเงินบาท โดยในเชิง Technical เงินบาทจะมีโซนแนวต้านอยู่ในช่วง 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าหลุดโซนดังกล่าวจะมีความเสี่ยงที่เงินบาทอาจอ่อนค่าเร็วไปสู่โซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เราได้ประเมินจุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทที่เป็นไปได้ใหม่ โดยอ้างอิง Valuation ของเงินบาทจากดัชนีเงินบาท REER เราพบว่า จุดอ่อนค่าสุดที่เป็นไปได้ของเงินบาท (Z-Score ของ REER ราว -2.0 เท่า) จะอยู่ที่ประมาณ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่เราเคยประเมินไว้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน แถวระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์พอสมควร
ทั้งนี้ เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้างและการอ่อนค่าอาจชะลอลงได้หากนักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยมากขึ้น หลังล่าสุด ดัชนี SET ได้ปรับตัวลงมาสู่โซนแนวรับสำคัญ และใกล้กับช่วงที่ความเสี่ยงการเมืองไทยร้อนแรง ทำให้เรามองว่า ณ ปัจจุบัน ความเสี่ยงการเมืองได้ลดลงไปมาก อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคงสดใสอยู่ กอปรกับระดับราคา (valuation) ของหุ้นไทยก็ไม่แพง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวควรหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าสะสมหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวได้เช่นกัน (อนึ่ง Krungthai CIO แนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อสะสมหุ้นไทย โดยมีเป้าระยะสั้น SET แถว 1,540-1,550)
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงหลังการพุ่งขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบ (ตามรายงานยอดสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ลดลงมากกว่าได้) ยังคงสร้างความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้นานกว่าคาด (Higher for Longer) เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อที่อาจได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.02%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อลงต่อเนื่อง -0.18% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและบอนด์ยิลด์ เช่น หุ้นสาธารณูปโภค (Utilities) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +1.4%) หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ในฝั่งตลาดบอนด์ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลว่า กระบวนการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ (Disinflation) อาจถูกกระทบได้ ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด (Higher for Longer) ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.60% ทั้งนี้ แม้ว่าบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นสูงกว่าแนวต้านระดับ 4.50% ที่เราเคยประเมินไว้ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยิลด์ปรับตัวขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างมีสถานะ Short บอนด์ระยะยาวกันมาก ทำให้หากมีปัจจัยที่ทำให้มุมมอง Higher for Longer เปลี่ยนไป เรามองว่าการทยอยปิดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยิลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยากและอาจเห็นการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านสำคัญแถว 106.6 จุด (กรอบ 106.2-106.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,895 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตามที่เราประเมินไว้ว่ามีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจลดลงสู่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ไม่ยาก) ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น GDP ไตรมาสที่ 2 และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด หรือ สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งอยู่ อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้ม “Higher for Longer” สำหรับดอกเบี้ยเฟด ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป