xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 36.42 มีแนวโน้มอ่อนค่าทดสอบโซน 36.50

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 ก.ย.) ที่ระดับ 36.42 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.36 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. และประเมินกรอบเงินบาท 36.20-36.65 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. (หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.29-36.48 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง ซึ่งเราคาดว่าโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่ล่าสุด เงินบาทได้อ่อนค่าต่อเนื่องทะลุแนวต้านหลักในระยะสั้นแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึง โฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนเอเชีย และกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าเช่นกัน

อนึ่ง การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงแถวโซนแนวต้านได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประชุม กนง. ในช่วงบ่ายของวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นรอบการประชุมที่บรรดานักวิเคราะห์มีมุมมองว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ย (เหมือนที่เราคาด) และ กนง. อาจคงดอกเบี้ยในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน สะท้อนถึงความไม่แน่นอนต่อการปรับนโยบายการเงินในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี หากผู้เล่นในตลาดประเมินว่า รอบการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ได้จบลงแล้ว หรือใกล้จบลงแน่นอน อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มทยอยกลับเข้าซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ในช่วงระยะกลาง-ระยะยาว ซึ่งอาจเห็นการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยิลด์ 10 ปี ไทย ราว 5-10bps ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้าซื้อบอนด์ไทยบ้างอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในวันนี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง.

ดัชนี S&P500 ดิ่งลงแรงกว่า -1.47% หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งออกมาสนับสนุนการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ยังคงส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) ซึ่งความกังวลดังกล่าวยังได้หนุนให้ บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นและทรงตัวเหนือระดับ 4.50% ส่งผลให้หุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ต่างปรับตัวลงแรง (Amazon -4.0% Apple -2.3%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเกิด Government Shutdown หากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวได้ทันกำหนด

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงต่อราว -0.61% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML -2.2%) จากความกังวลแนวโน้มบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงกดดันให้ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -1.5%) และกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto -0.6%) ต่างปรับตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเลือกลงทุนในหุ้นสไตล์ Defensive ไปก่อนในระยะสั้นนี้

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและข้อมูลตลาดบ้านจะออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน แต่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องของเฟด ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นและทรงตัวเหนือระดับ 4.50% อีกครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่าบอนด์ยิลด์ระยะยาวจะมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากปัจจัย เช่น 1) ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินเฟด ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญและท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 2) ปัญหาการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ Government Shutdown ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงการถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งของสหรัฐฯ ได้ แต่เรามองว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับ 4.50% มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก (Very Attractive) และมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้นจากที่เราเคยประเมิน ทำให้เราคงแนะนำให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยิลด์ปรับตัวขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานและความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านสำคัญแถว 106 จุด (กรอบ 105.8-106.3 จุด) ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดไว้ว่า ดัชนีเงินดอลลาร์อาจไม่สามารถทะลุโซน 106 จุดไปได้ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,919 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเปิดความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจลดลงสู่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่ควรจับตาจะอยู่ที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย โดยเราประเมินว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีมติ “ไม่เป็นเอกฉันท์” ขึ้นดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 2.50% ท่ามกลางแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของภาวะ El Nino ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของการบริโภคตามแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ทั้งนี้ ควรจับตามุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยิลด์ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ และค่าเงินบาทได้ในช่วงนี้

ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB หลังอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนและภาพเศรษฐกิจโดยรวมต่างก็ชะลอลงมากขึ้น

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) รวมถึงยอดสต๊อกน้ำมันดิบคงคลัง ซึ่งอาจมีผลต่อราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น