การประกาศงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 กลายเป็นข่าวดีชิ้นใหญ่ที่กระตุ้นให้หุ้น บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA พุ่งทะยานอย่างร้อนแรง ราคาจ่อที่จะทะลุสู่จุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายปี
HANA ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 หลังปิดการซื้อขายหุ้นวันอังคารที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิ 635.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 244.95 ล้านบาท รวมงวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 901.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 609.95 ล้านบาท
ราคาหุ้น HANA พุ่งทะยานขึ้นทันทีเมื่อเปิดการซื้อขายวันที่ 16 สิงหาคม ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่นตลาดทั้งวัน ก่อนราคาจะปิดลงที่ 59.75 บาท เพิ่มขึ้น 7.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 14.35% มูลค่าซื้อขาย 5,062.95 ล้านบาท
หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คึกคักมาก่อนหน้าแล้ว โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายสำนักแนะนำให้ซื้อ โดยประเมินว่า แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังจะเติบโตต่อเนื่อง เพราะความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังมีสูง และค่าเงินบาทที่อ่อนตัว จะทำให้หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนได้รับอานิสงส์ กำไรจะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนตัวอื่น ไม่ว่าหุ้นบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE และหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ไม่ได้ร้อนแรงตาม HANA โดยนักลงทุนเลือกเก็งกำไรเป็นรายตัวมากกว่า
ในรอบ 12 เดือน HANA เคยลงไปต่ำสุดที่ 32.75 บาท และขึ้นไปสูงสุดที่ 65 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลประกอบการที่ชะลอตัว เช่นในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและผลขาดทุนจากเงินลงทุนรวมกว่า 800 ล้านบาท ราคาหุ้นจึงปรับตัวลงต่อเนื่อง แต่ผลประกอบการปี 2565 เติบโต นักลงทุนจึงกลับเข้ามาซื้อหุ้นใหม่
ค่าพี/อี เรโช HANA อยู่ที่ 20 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 1.67% โดยปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งหากผลประกอบการครึ่งปีหลังเติบโตตามที่นักวิเคราะห์คาดหมาย จะทำให้ HANA เป็นหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนที่โดดเด่น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ โบรกเกอร์รวม 11 แห่ง ไม่ตั้งเป้าหมายราคาหุ้น HANA ไว้สูงนัก โดยมีโบรกเกอร์บางแห่ง กำหนดราคาเป้าหมายไว้ที่ 36 บาท ซึ่งถือว่าเป้าราคาเป้าหมายต่ำสุดจาก 11 โบรกเกอร์
แต่บางโบรกเกอร์ตั้งราคาเป้าหมายไว้ที่ 71.50 บาท ซึ่งเป็นราคาเป้าหมายที่สูงสุดจาก 11 โบรกเกอร์ ส่วนราคาเป้าหมายเฉลี่ยทั้ง 11 โบรกเกอร์อยู่ที่ 56.53 บาท ขณะที่ราคาหุ้นบนกระดานวิ่งทะลุราคาเป้าหมายเฉลี่ยไปแล้ว
จำนวนนักลงทุนรายย่อย HANA ลดลงมาก ระหว่างปี 2565 ถึง 2566 โดยปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 14 มีนาคม 2565 มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 28,371 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 57.77% ของทุนจดทะเบียน แต่ปิดสมุดทะเบียนวันที่ 14 มีนาคม 2566 จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยลดเหลือ 20,515 ราย ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นรวมกันเพิ่มขึ้นเป็น 68.36% ของทุนจดทะเบียน
ผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 2 หมื่นรายของ HANA เหมือนถูกรางวัลใหญ่จากการปรับตัวขึ้นแรงในรอบนี้ และยังมีความหวังว่าถ้าผลประกอบการครึ่งปีหลังโตเหมือนครึ่งปีแรก
HANA อาจไต่ขึ้นจนทะลุจุดสูงสุดเดิม และสร้างสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 12 เดือนได้ นักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ในมือคงถือไว้ลุ้นกัน