นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการและโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นในงานสัมนาของ ธปท. โดยแสดงความกังวลต่อการทำนโยบายประชานิยมของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเกรงจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านการคลังของประเทศนั้น
โดยความเห็นที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนกับผู้ว่าฯ ธปท. มี 5 ประเด็น ดังนี้
1.เข้าใจความกังวลของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเรื่อง ประชานิยม ซึ่งหากรัฐบาลใหม่หมายถึง "รัฐบาลเพื่อไทย" นโยบายนี้คงจะหมายถึง Digital Wallet ซึ่งขอแลกเปลี่ยนความเห็นดังนี้
1.1 Digital Wallet ไม่ใช่ประชานิยม แต่คือการชุบชีวิตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 10,000 บาท สำหรับทุกคน (16 ปีขึ้นไป) สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจกระจายอยู่ทั่วทุกชุมชนทั่วประเทศ Digital Wallet "เป็นความจำเป็น ไม่ใช่ทางเลือก" ในจังหวะที่ประเทศบอบช้ำ และการสร้างกำลังซื้อตามธรรมชาตินั้นไม่ทันการณ์
1.2 เทคโนโลยี Blockchain ของ Digital Wallet สร้างเงินหมุนได้รวดเร็ว ตรงเป้า เขียนเงื่อนไขและระยะเวลาได้ จะเกิดเงินหมุนที่พลังสูงกว่า และเป็นตัวจุดกำลังซื้อรวดเร็วแม่นยำกว่าแบบดั้งเดิม
1.3 Digital Wallet นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจยังสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเงินรองรับโลกยุคใหม่ พลิกโฉมประเทศ การลงทุนที่จะตามมานั้นมีผลตอบแทนมากกว่าเงินที่ลงทุนไป
1.4 ทุกนโยบายของพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญสูงสุดต่อความมั่นคงทางการคลัง ทุกบาทที่ใช้ต้องมีผลตอบแทนสูง และย้อนกลับมาเป็นความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว
2.เห็นตรงกันว่า "หนี้ครัวเรือน" คือ ปัญหาใหญ่ แต่เห็นต่างกันที่ต้นตอของหนี้ครัวเรือน ธปท. มองว่าเกิดจากดอกเบี้ยต่ำ คนจึงก่อหนี้เยอะ แต่ข้อเท็จจริงนั้นเกิดจากประชาชนและภาคเอกชนรายได้ทรุดลงอย่างกะทันหัน (Income Shock) จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อการดำรงชีวิต และความอยู่รอดของธุรกิจ พรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายเข้าแก้ไขปัญหาใน 2 ขั้นตอนทันที คือ 1.แก้หนี้ทันที ทั้งมาตรการพักหนี้เกษตรกร และหนี้ SME ที่เดือดร้อนจากโควิด และ 2.สร้างงานสร้างรายได้ทันที เริ่มจาก Digital Wallet ตามด้วยการดึงรายได้ใหม่เข้าประเทศจากการดูดการลงทุนใหม่ เปิดประเทศด้วยนโยบายต่างประเทศเชิงรุกทันที เป็นต้น
3.เห็นแย้งกับ ธปท. ที่ไม่กังวลกับการตั้งรัฐบาลช้า การขาดงบลงทุนใหม่หลายแสนล้านบาทไปครึ่งปีนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าสบายใจ เสมือนรถใส่เกียร์ว่าง ไร้คันเร่ง ที่กำลังถูกแซงไปครึ่งปี สำคัญกว่านั้นคือส่วนที่ไม่ใช่งบประมาณ ค่าเสียโอกาสของประเทศจากการชะลอการลงทุน การสูญเสียความเชื่อมั่น การย้ายฐานการผลิต ความสูญเสียในตลาดทุน และการขาดทิศทางของประเทศ เหล่านี้ประเมินค่าไม่ได้ คือสุญญากาศทางเศรษฐกิจ
4.เสถียรภาพ VS ศักยภาพของสถาบันการเงิน ตรงนี้เห็นต่าง ที่ผ่านมา ไทยติดกับดักคำว่าเสถียรภาพ สร้างธนาคารเป็นสถาบันที่แข็งแกร่ง แต่กลับไม่ถูกใช้เป็นกลไกผลักดันทางเศรษฐกิจไปสู่รากหญ้าและ SME เพราะกลัวความเสี่ยง และกันคนเสี่ยงออกนอกระบบ จนการสร้างศักยภาพจากฐานของประเทศยังทำได้ไม่ดีพอ
5.พรรคเพื่อไทย หากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จจะเดินหน้าพลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยวิธีคิดแบบใหม่ สร้างรายได้แบบใหม่ ทัศนคติใหม่ แนวทางการบริหารแบบใหม่ สู่การพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย และสร้างการทำงานประสานระหว่างนโยบายทางการคลังกับนโยบายทางการเงินอย่างไร้รอยต่อ