xs
xsm
sm
md
lg

อนันดาฯ แจง 5 แนวทางแก้ปัญหา "แอชตัน อโศก" กทม.ยันไม่ต้องรื้อถอน แค่ขออนุญาตก่อสร้างใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แอชตัน อโศก
“อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย” เผยความคืบหน้าการดำเนินงานแก้ปัญหาโครงการ “แอชตัน อโศก” แจง 5 แนวทางการแก้ไข ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม เสนอให้หน่วยงานรัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน เสนอแก้ไขกมเกี่ยวข้องผ่าน รฟม. ประสานเจ้าของเดิมยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้าออกจาก รฟม. ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป พร้อมหาทางช่วยเหลือการผ่อนชำระสินเชื่อเจ้าของร่วม ด้าน กทม.ยันไม่ต้องรื้อถอน “แอชตัน อโศก” แค่ปรับแก้-ขออนุญาตก่อสร้างใหม่ถูกต้อง

รายงานข่าวแจ้งว่าจากกรณีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โครงการแอชตัน อโศก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโครงการ แอชตัน อโศก ออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด บริษัทร่วมทุนผู้พัฒนาโครงการแอชตัน อโศก ได้ส่งหนังสือชี้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อแสวงหาทางออกสำหรับท่านเจ้าของร่วม และชี้แจงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมดังนี้ 

1.แนวทางแก้ไขกรณีใบอนุญาตก่อสร้าง บริษัทฯ กำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไข ซึ่งมีอยู่หลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้
 ดังต่อไปนี้

•ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม


•เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน สำนักการโยธากรุงเทพมหานครไปกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปคณะรัฐมนตรี

•เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปคณะรัฐมนตรี

•ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้าออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิทางเข้าออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้

•ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป


2.แนวทางช่วยเหลือ เรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน
โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เร่งประสานงานกับสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่ยังมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ ได้เชิญสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระของท่านเจ้าของร่วม ดังนี้

•บริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางด้านการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

•บริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางสำหรับมาตรการลดภาระในการผ่อนชำระอื่นๆ

ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาจากสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อได้รับความคืบหน้าประการใด บริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว

3.ประเด็นชี้แจงอื่นๆ เพิ่มเติมประกอบด้วย


•การออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารแบบมีเงื่อนไข ประเด็นเรื่องข้อสงวนที่ กทม. กำหนดว่าบริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
หากผลการพิจารณาของศาลปกครองเป็นที่สุดว่าโครงการดำเนินการขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏอยู่เพียงในใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ซึ่งเอกสารดังกล่าว กทม.ออกให้บริษัทฯ หลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการขายให้ลูกค้าแล้ว นอกจากนี้ ในใบอนุญาตอื่นที่ กทม. ออกให้แก่บริษัทฯ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีข้อความทำนองนี้ปรากฏอยู่ในใบอนุญาตแต่อย่างใด และบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมกับ กทม. ต่อไป

• เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ และรับทราบสถานะคดี โดยบริษัทฯ ได้แจ้งเรื่องของคดีที่อยู่ในศาลปกครอง นับแต่ที่ลูกค้าได้ทำการซื้อขายห้องชุด กับบริษัทฯ ตามลำดับดังนี้

1.ในช่วงแรกที่บริษัทฯ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจะซื้อจะขาย บริษัทฯ ได้ขอขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ โดยแจ้งเรื่องคดีของโครงการให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทาง 3 ข้อให้ลูกค้าพิจารณา คือ (1) การยกเลิกสัญญา และคืนเงิน (2) การย้ายโครงการตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ (3) หากถือสัญญาไว้ต่อจนถึงครบกำหนดการขยายระยะเวลา (26 มีนาคม 2562) จะได้รับส่วนลด ณ วันโอน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด โดยสำหรับลูกค้าที่เลือกรับโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือขอบคุณ พร้อมทั้งแจ้งสถานะเกี่ยวกับคดีของโครงการให้รับทราบด้วย (จากลูกค้าจองทั้งหมด 766 ราย มีลูกค้ายกเลิกสัญญาทั้งหมด 244 ราย ย้ายโครงการ 4 ราย และ อยู่รอโอนกรรมสิทธิ์ 518 ราย หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบทั้ง 3 แนวทาง)

2.ในเวลาต่อมา บริษัทฯ ได้จัดส่งเอกสารแจ้งสถานะคดีของโครงการ ในหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปยังลูกค้าทุกราย ซึ่งได้รับการลงนามการตอบรับมาเป็นส่วนใหญ่

3.สำหรับลูกค้าที่ซื้อและทำสัญญาจะซื้อจะขาย ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้รับทราบสถานะคดี ตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งไว้ในบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรณีโครงการแอชตัน อโศก ที่เป็นข่าวในขณะนี้ ยังไม่ถึงขั้นรื้อถอนอาคาร เพียงให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ยื่นหนังสือขอใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างใหม่กับ กทม. ภายใน 30 วัน

โดยในวันพรุ่งนี้ กทม.จะส่งหนังสือเพิกถอนใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศกให้สำนักงานเขตวัฒนาที่รับผิดชอบดูแลโครงการในพื้นที่ และให้ส่งแจ้งไปบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ตามคำสั่งศาลปกครอง จากนั้นจะเปิดให้ทางบริษัทยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่

“แต่หาก “อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย” ไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งขอยื่นใหม่ได้ทันก็สามารถขยายเวลาเป็น 120 วันได้ พร้อมรายละเอียดการขอขยายเวลา ซึ่งขณะนี้ กทม.ยังไม่ติดต่อกับทางอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก เนื่องจากวันนี้เพิ่งเปิดทำการหลังหยุดยาว”

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ยืนยันว่าได้ออกใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก อย่างถูกต้องตามระเบียบ เนื่องจากก่อนหน้านี้ อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก ยื่นอุทธรณ์ขอออกใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้าง เนื่องจากการใช้เวลาออกใบอนุญาตใช้เวลานาน ขณะที่ทางอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก มีรายละเอียดการก่อสร้างมาอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขของ กทม.ครบถ้วน

สำหรับลูกบ้านที่พักอาศัยโครงการ แอชตัน อโศก ยังสามารถพักอาศัยและใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงการใช้ทางออกเดิมยังใข้ได้ตามปกติ โดยเจตนารมณ์ของศาลมองจากคำตัดสิน ศาลเพียงต้องการให้การตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ให้การขออนุญาตก่อสร้างถูกต้อง ไม่เกี่ยวข้องกับการเพิกถอนการใช้ทางออกที่ทับซ้อนพื้นที่เวนคืนของ รฟม.และไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เนื่องจากอาคารไม่มีความเสี่ยงเรื่องตึกถล่ม หรือการเข้าออกของรถดับเพลิง

อย่างไรก็ตามทาง กทม. ได้เสนอแนวทางในการเปิดพื้นที่ทางออกของโครงการ อย่างถูกต้องทางซอยสุขุมวิท 19 เบื้องต้นตามแปลงระวางที่ กทม.มีอยู่ที่ 20.5 เมตร เป็นไปตามกฎที่ระบุทางออกสู่ถนนอย่างน้อย 18 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม กทม. เตรียมเข้าวัดระยะพื้นที่ซอยสุขุมวิท 19 อีกครั้งเพื่อความถูกต้องของระยะห่าง ไม่ให้ซ้ำรอยกรณีรื้อถอนโครงการในซอยร่วมฤดี นอกจากนี้ ยังมีฝั่งทางออกฝั่งสุขุมวิท 21 ที่เชื่อมกับถนนอโศกมีความกว้างที่เพียงพอตามข้อกฎหมายของ กทม.


กำลังโหลดความคิดเห็น