xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรไทยเปิดตัว KIV ลุยปล่อยกู้กลุ่มแมส มุ่งลดต้นทุน-เพิ่มรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตธุรกิจในระยะยาว ประกาศแยก 'บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด' หรือเคไอวี (KASIKORN INVESTURE: KIV) และพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของเคไอวี เพิ่มความคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินกับลูกค้ารายย่อย พร้อมใช้ศักยภาพของพันธมิตรร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของธนาคาร เพื่อให้สามารถลดต้นทุนธุรกิจ และลดต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิต ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวี ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท​

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
กล่าวว่า บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือเคไอวี เป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer's Life and Business) โดยเคไอวีจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารและพันธมิตร เพื่อสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

น.ส.ขัตติยา กล่าวอีกว่า เคไอวีจะทำธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของธนาคาร จะเน้นในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งการจะทำธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องมีความแตกต่างจากเงื่อนไขของธนาคาร ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตเพื่อให้สามารถเข้าถึงเขาได้ ซึ่งตรงนี้จะมาเติมเต็มส่วนที่ธนาคารทำได้ยาก และเคไอวีถือเป็นเรือธงแรกของกสิกรไทยที่จะสร้างรายได้ให้เราอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกันนั้น อยู่ระหว่างการทดสอบระบบอีกหลายอย่างที่จะทยอยออกมาในระยะต่อไป

“ธนาคารได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการของเคไอวี โดยมีคุณพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของเคไอวี และแยกเคไอวีออกมา เพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ภายใต้การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ธนาคารมั่นใจว่า การปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสร้างรายได้ใหม่ให้ธนาคาร ทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน"

นายพัชร สมะลาภา Group Chairman ของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของเคไอวี คือ เพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) เพื่อให้ยังคงความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจ การดำเนินงานของเคไอวีอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น จำนวนลูกค้ากว่า 20 ล้านราย K PLUS เงินทุน ข้อมูล ไอที และสาขา เป็นต้น ซึ่งทำให้เคไอวีมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็ก กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้น

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของเคไอวีซึ่งได้เริ่มทดลองทำธุรกิจมาจากปี 2565 นั้น บริษัทมีผลกำไร 81 ล้านบาท มียอดปล่อยสินเชื่อ 3.7 หมื่นล้านบาท มีมูลค่ารวมของสินทรัพย์ในการลงทุน 21,500 ล้านบาท และมีจำนวนบริษัทที่ลงทุนที่ 6 ราย รวมทั้งตั้งเป้าหมายในปีนี้มีกำไรสุทธิ 900-1,100 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 4-4.5 หมื่นล้าน มูลค่ารวมของสินทรัพย์ในการลงทุน 2.5-3 หมื่นล้านบาท และมีจำนวนบริษัทที่ลงทุนที่ 14 ราย พร้อมกันนั้น ตั้งเป้าหมายในปี 2569 มีกำไรสุทธิ 4,500-5,000 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 7.5-8.0 หมื่นล้านบาท มูลค่ารวมของสินทรัพย์ในการลงทุน6.5-7.0 หมื่นล้านบาท และมีจำนวนบริษัทที่ลงทุนที่ 14 ราย

"เคไอวีดำเนินธุรกิจภายใต้ไลน์เซนส์สินเชื่อบุคคล และนาโนไฟแนนซ์ กลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่มลูกค้ารายย่อยหรือกลุ่มแมส และเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่เข้าไม่ถึงธนาคาร ไม่มีเอกสารรายได้ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของไลน์บีเคประมาณ 20,000 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่อเงินได้ใจซึ่งเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถประมาณ 20,000 ล้านบาท อันนี้จะแยกมาจากบริษัทกสิกรลีสซิ่ง ส่วนอื่นได้จะมีส่วนของการสนับสนุนทางเทคฯ ต่างๆ และความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ต่อไป"

ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวี ประกอบด้วย 14 บริษัท ใน 9 กลุ่ม ธุรกิจ เช่น บริษัท บริหารสินทรัพย์เจเค บริษัท บริหารสินทรัพย์เจ จำกัด บริษัทเงินให้ใจ จำกัด บริษัทกสิกร ไลน์ จำกัด เป็นต้น รวมมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น