“หนี้อุปโภคบริโภคภาคครัวเรือนพุ่งสูงแตะระดับ 90.6% ซึ่งสูงกว่าระดับความเสี่ยงที่อยู่ระดับไม่เกิน 80% กระทบภาพรวมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ภาคครัวเรือน ธปท.ออกมาตราการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับระบบ ล่าสุด ออกมาตราการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน จัดกลุ่มหนี้เร่งแก้ไข 4 กลุ่ม 1.หนี้เสียที่มีอยู่ปัจจุบัน 2.หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย แต่ปิดจบไม่ได้ 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว อาจจะเป็นหนี้เสียหรือหนี้เรื้อรังในอนาคต 4.หนี้นอกระบบ พร้อมขยับเกณฑ์ชำระหนี้ต่อรายได้เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงและป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น บังคับใช้เกณฑ์ ‘ภาระหนี้ต่อรายได้’ ต้องไม่เกิน 60-70% เริ่ม 1 ม.ค.68 ออกประกาศแนวทาง ‘responsible lending’ เริ่มต้นปี 67 ลุยปรับโครงสร้าง 'หนี้เรื้อรัง' มีโอกาสปิดจบได้ภายใน 5 ปี”
หนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 90.6% ต่อจีดีพี จากการปรับคำนิยามของหนี้ครัวเรือนจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมหนี้ 4 กลุ่ม เข้าในนิยามของหนี้ครัวเรือนรวม 776,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้กองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา 483,000 ล้านบาท หนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์อื่นที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ 265,000 ล้านบาท หนี้การกู้ยืมจากการเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท และหนี้ที่กู้ยืมจากพิโกไฟแนนซ์ 6,000 ล้านบาท หลังจากการปรับนิยามหนี้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นทันทีที่ 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน (Directional Paper) เพื่อสะท้อนข้อมูลเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนไทยและสื่อสารหลักการแก้ปัญหาหนี้ที่ต้องทำอย่างครบวงจรและถูกหลักการ ซึ่งต้องใช้เวลาอาจจะมากกง่า 2-3 ปี และอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ปี 2563 มาตรการ ธปท. ส่วนใหญ่เน้นช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จึงปรับมาตรการไปเน้นการแก้หนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนในช่วงไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพีนั้น ถือเป็นระดับค่อนสูงเมื่อเทียบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่มีความยั่งยืน คือ ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี ดังนั้น ธปท.จึงจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้ตรงจุดและยั่งยืน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหนี้สินครัวเรือนจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และลุกลามไปสู่ปัญหาสังคมต่อไป
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั้นจะมีการออกมาตรการดูแลหนี้ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มหนี้เสียที่มีอยู่ปัจจุบัน ที่แยกเป็นหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐ (SFIs) 60% ธนาคารพาณิชย์ 10% นอนแบงก์ 30% โดยจะหาวิธีการที่ทำให้สามารถแก้ไขหนี้เสียได้ 2.กลุ่มหนี้เรื้อรัง เพื่อทำให้ลูกหนี้มีทางเลือกในการปิดจบหนี้ได้ 3.กลุ่มหนี้ใหม่ โดยจะออกมาตรการที่ทำให้การสินเชื่อใหม่มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และ 4.หนี้นอกระบบ โดยการทำให้ลูกหนี้นอกระบบมีโอกาสเข้ามากู้ในระบบได้มากขึ้น
“มาตรการสำคัญที่แบงก์ชาติจะเร่งดำเนินการคือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ตลอดจนการดูแลหนี้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง และยังเสริมด้วยอีก 2 มาตรการ คือ มาตรการเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing) และการกำหนดกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) ซึ่งทุกมาตรการได้ผ่านการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว และวันนี้ 26 ก.ค.66 นี้ จะมีสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐร่วมแถลงข่าวเพื่อยืนยันความร่วมมือในการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”
มาตรการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) และ 2.การดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) โดยกรอบหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมนั้น เจ้าหนี้ต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อจะขายหรือโอนหนี้ออกไป ได้แก่
ก่อนเป็นหนี้หรือกำลังจะเป็นหนี้ เจ้าหนี้จะต้องให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมและส่งเสริมให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ให้ตรงเวลา และเจ้าหนี้ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมกับลูกหนี้อย่างชัดเจน เป็นต้น เช่น ก่อนครบกำหนดเวลาชำระหนี้บัตรเครดิต เจ้าหนี้จะส่ง SMS ไปลูกหนี้ว่ามีหนี้ที่ยังไม่ได้จ่ายชำระเท่าไหร่ ซึ่งขณะนี้เจ้าหนี้บางรายได้เริ่มทำไปแล้ว
ส่วนเรื่องการโฆษณา อยากเห็นการโฆษณาที่มีข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน และเปรียบเทียบได้ โดยการเสนอขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เจ้าหนี้ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน และไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้เป็นหนี้เกินตัว รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องเหมาะสมกับลูกค้าและเงื่อนไข เช่น หากเป็นการกู้เพื่อนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค สัญญาต้องไม่ยาวเกินไป ขณะที่การพิจารณาปล่อยกู้ต้องมองด้วยว่า ลูกหนี้จ่ายไหวและมีเงินเหลือพอดำรงชีพประจำวันด้วย
นอกจากนั้น เจ้าหนี้ต้องแสดงจำนวนดอกเบี้ยให้ชัดเจน หากชำระขั้นต่ำจำนวนดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ และหากชำระสูงจำนวนดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้ลูกหนี้มีข้อมูลเปรียบเทียบ และต้องแสดงอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีด้วย เพราะบางครั้งการบอกว่าดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน คนจะรู้สึกว่าน้อย แต่หากเทียบกับดอกเบี้ย 24% ต่อปี รวมทั้งต้องกำหนดค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจน และเมื่อปล่อยกู้ไปแล้ว ลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องมีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย และเมื่อลูกหนี้เป็นหนี้เสียแล้ว ก่อนจะฟ้องดำเนินคดีและโอนขายหนี้ เจ้าหนี้จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง และเมื่อมีการโอนขายหนี้ออกไปข้างนอก เจ้าหนี้ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ตลอดจนผู้รับโอนหนี้ต้องกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเหมาะสม
ชุบชีวิต "ลูกหนี้เรื้อรัง" ปิดหนี้จบได้ 5 ปี ดอกเบี้ยไม่เกิน 15%
การดูแลแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง เจ้าหนี้ต้องดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt) โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (revolving personal loan) ที่มีรายได้น้อย คือ เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจ ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาท/เดือน หรือเป็นลูกหนี้ของ Non-banks อื่นๆ ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน หากเป็นหนี้มานาน 5 ปี และมีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการปรับสร้างหนี้ภายใต้เงื่อนไข Persistent Debt คือ จะต้องปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี ลดลงจากสัญญาเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปี และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ ขณะที่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ (opt-in) ต้องปิดวงเงิน revolving ดังกล่าวเพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่ม และจะมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้
“ตัวอย่างการปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มหนี้เรื้อรัง คือ ลูกหนี้กู้เงิน revolving จำนวน 15,000 บาท และจ่ายชำระเพียง 3% ของยอดคงค้าง จะต้องใช้เวลาปิดหนี้ 18 ปี และเสียดอกเบี้ยรวม 29,000 บาท แต่หากลูกหนี้เป็นหนี้มาแล้ว 5 ปี และจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น เมื่อลูกหนี้เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเลือกจ่ายหนี้เดือนละ 280 บาท ลูกหนี้จะปิดจบหนี้ได้ใน 3.5 ปี และเสียดอกเบี้ยทั้งหมด 17,500 บาท หรือประหยัดดอกเบี้ยได้ 11,500 บาท”
ส่วนกรณีเป็นลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนที่มีสัญญาณว่าจะเป็นหนี้เรื้อรัง (General Persistent Debt) คือ เป็นหนี้มาแล้ว 3 ปี และจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น เจ้าหนี้จะต้องได้รับข้อความแจ้งเตือนลูกหนี้ว่า มีสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง ปิดจบไม่ได้ และต้องให้คำแนะนำลูกหนี้ให้จ่ายชำระหนี้รายเดือนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
ธปท.จะเผยแพร่ Consultation Paper การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในช่วงไตรมาส 3/2566 และจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ส่วนมาตรการปรับสร้างหนี้ภายใต้เงื่อนไข Persistent Debt นั้น จะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2567
ออกเกณฑ์กำหนด ‘อัตราดอกเบี้ย’ ตามความเสี่ยงลูกหนี้
ธปท.ออกมาตรการเสริมในการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอีก 2 มาตรการ คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing : RBP) คือ ทำให้คนที่มีความเสี่ยงสูงเกินเพดานสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าเพดานที่กำหนดไว้ แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวจะถูกกว่าดอกเบี้ยหนี้นอกระบบที่สูงถึง 100-300% ต่อปี ขณะที่คนที่มีความเสี่ยงต่ำควรจ่ายดอกเบี้ยถูกลง ไม่ใช่ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงชนเพดาน
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินเพดาน อาจจะมีรายได้ไม่ประจำ และไม่แน่นอน หรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงไม่สามารถเข้าเกณฑ์ขอสินเชื่อธนาคารได้ จำเป็นต้องออกไปกู้นอกระบบด้วยดอกเบี้ยที่แพงมาก 200-300% และต้องจ่ายรายวันมากกว่าเงินต้น ถ้าสถาบันการเงินขยับเพดานดอกเบี้ยขึ้นไปได้อีกนิดหนึ่งจะดึงคนที่เคยลอยอยู่ข้างบน ซึ่งเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงบางส่วน แต่มีความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลงมาอยู่ใต้เพดานใหม่ได้ คือ เสี่ยงสูง แต่ยังกู้ได้ หวังว่าด้วยเกณฑ์ตัวใหม่จะดึงคนที่เคยอยู่ติดเพดาน ส่วนคนที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น มีประวัติชำระหนี้ดีมาตลอด ให้สามารถจ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำลงได้
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ risk-based pricing ต้องเข้ามาร่วมทดสอบในโครงการ Sandbox ก่อน โดย ธปท.จะออก Consultation Paper เพื่อทำความเข้าใจ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องได้ในช่วงไตรมาส 3/2566 จากนั้นจะทยอยออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ในช่วงไตรมาส 4/2566 โดย ธปท.จะเปิดให้ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ และให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมทดสอบได้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 การทดสอบใน Sandbox จะใช้ระยะเวลา 1-2 ปี และที่ต้องนาน เพราะเราต้องพิจารณารอบวงจรว่าหนี้ที่ปล่อยไป สุดท้ายแล้วเสียมากขึ้นหรือเปล่า เป็นประโยชน์กับลูกหนี้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะออกจาก Sandbox ให้บริการในวงกว้างได้จะต้องมีระบบประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ที่น่าเชื่อถือ เสนออัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้ได้อย่างแท้จริง และเห็นชัดว่ากลุ่มความเสี่ยงต่ำได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าเพดาน หากการทดสอบใน Sandbox พบว่า ลูกหนี้ไม่มีการกระจายตัว คือ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำก็เสียดอกเบี้ยเท่ากับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ธปท.จะยุติการทดสอบ และเจ้าหนี้รายนั้นๆ ต้องกลับไปอยู่ในเพดานดอกเบี้ยเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ควบคุมการชำระหนี้ต่อรายได้’ไม่เกิน 60-70% เริ่มใช้ 1 ม.ค.68
มาตรการการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio : DSR) ธปท.มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้เกณฑ์ DSR เข้าไปอยู่ในมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงิน เนื่องจากครัวเรือนไทยมีปัญหาหนี้เกินตัว โดยรายได้ของครัวเรือนเกินกว่าครึ่งต้องนำไปจ่ายหนี้ และกว่า 50% ของภาระหนี้ของครัวเรือนเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีส่วนทำให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวสูง และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนี้เรื้อรัง พบว่า DSR ระดับที่สูงๆ ส่งผลทำให้อัตราการผิดนัดหรือการเป็น NPL ของลูกหนี้กลุ่มนั้น เร่งตัวสูงขึ้นจริงๆ จึงต้องการให้เจ้าหนี้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยคำนึงถึงรายได้และภาระหนี้ในปัจจุบัน และเมื่อให้สินเชื่อไปแล้ว ลูกหนี้ยังต้องมีเงินเหลือพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย
หลักเกณฑ์การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) จะแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรก จะเริ่มที่สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อส่วนบุคคลที่ปล่อยโดย SFIs สินเชื่อสวัสดิการ MOU และวงเงินเบิกเกินบัญชีเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนเฟสสอง จะเพิ่มสินเชื่ออื่นๆ ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อ Digital p-loan และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
ตัวอย่าง การกำหนด DSR นั้น จะเป็นไปตามรายได้ของลูกหนี้ คือ กรณีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 60% และกรณีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 70% ซึ่งที่มาของการกำหนด DSR ไม่เกิน 60% และไม่เกิน 70% จากข้อมูลที่ ธปท.ขอให้แบงก์และ Non-banks ส่งข้อมูลรายสัญญามาให้ พบว่ากลุ่มที่มี DSR สูงเกินระดับที่กำหนดไว้จะมีการเร่งตัวของ NPL สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ประเมินว่าลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ แม้ DSR จะสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด เจ้าหนี้สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ แต่ DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 90% และสินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องมียอดไม่เกิน 15% ของสินเชื่อปล่อยใหม่ การบังคับใช้มาตรการ DSR จะต้องใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งเพียงพอ ดังนั้น ธปท. มีแผนจะบังคับใช้มาตรการ DSR ในวันที่ 1 ม.ค.2568 เพื่อให้ประชาชนและผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับตัว แต่จะมีการประเมินสถานการณ์และบริบททางเศรษฐกิจในขณะนั้นอีกครั้ง