ภาคเอกชนจี้การเมืองต้องได้นายกฯ คนใหม่ภายในสิงหาคมนี้ โบรกฯ หวั่นยืดเยื้อเศรษฐกิจยิ่งชะลอตัว หลังที่ผ่านมาติดเบรกแผนลงทุนรอความชัดเจน ย้ำให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้ แต่เชื่อมือ “เศรษฐา” กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านตลาดหุ้นดิ่งตลอดรับความไม่แน่นอน รอบฟื้นตัวจบแล้ว คาดหากม็อบลงถนนดัชนียิ่งดิ่ง ต่างชาติยิ่งเทขาย ส่วนข่าวผลประกอบการ บจ.ไตรมาส 2 ช่วยอะไรไม่ได้ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยิ่งล่าช้ามากเท่าใดยิ่งสร้างผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเป็นสุญญากาศ
ล่าสุด เป็นทื่แน่ชัดว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค “ก้าวไกล” พลาดโอกาสการขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และทางพรรคในฐานะพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้เปิดทางให้พรรค “เพื่อไทย” ที่ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 รองลงมา เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนต่อไปซึ่งเลื่อนออกไปจากวันที่ 27 ก.ค.
สถานการณ์ดังกล่าวกลับมาเป็นที่สนใจของแวดวงตลาดทุนอีกครั้ง เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ “เพื่อไทย” มีชื่อที่หลายฝ่ายจับตา และเชื่อว่าประสบการณ์ทางธุรกิจน่าจะเพียงพอต่อการเข้ามาบริหารประเทศอย่าง “เศรษฐา ทวีสิน” แห่งค่ายบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาฃน) (SIRI) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับประเทศ อยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศ ณ เวลานี้ นำมาสู่คำถามว่า การสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ท่ามกลางเงื่อนไขที่ไม่อาจตกลงกันได้ระหว่างพรรคการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด เพราะถ้ามองในด้านการท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศกำลังทยอยเข้ามาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แม้มีความเสี่ยงในเรื่องการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน และโอกาสในการเกิดการเมืองนอกสภา หรือการลงถนนชุมนุม
เห็นได้จากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ออกมาระบุว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในขณะนี้ถือเป็นปัจจัยน่าเป็นห่วงมากที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะปัจจัยในด้านอื่นๆ อยู่ระหว่างกำลังฟื้นตัว โดยในฐานะเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยืนยันว่าต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด เพราะหากรัฐบาลจัดตั้งล่าช้า การขับเคลื่อนจะช้าตามไปด้วย รวมถึงอยากเห็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร อีกทั้งมีเรื่องจำเป็นที่ต้องเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมด้วย เพราะแม้ขณะนี้ยังมีรัฐบาลรักษาการ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ดังนั้น ผลกระทบของการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หลายฝ่ายเชื่อว่า จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในหลายด้าน ทำให้ทุกอย่างล่าช้าแทนที่จะออกมาให้รวดเร็วมากที่สุด
ขณะเดียวกัน จากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล จนไม่รู้ว่าพรรคไหน หรือใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งผลกระทบให้บรรดาภาคธุรกิจชะลอการลงทุน หรือดำเนินโครงการใหม่ๆ เลยเถิดไปถึงหากเกิดรัฐบาลผสมทั้งจากขั้วอำนาจเก่าใหม่ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการเมืองลงถนน นั่นทำให้รัฐบาลที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาอาจอยู่ไม่ยาว
“ตอนนี้ไม่ว่าฝั่งไหนจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เชื่อว่าจะอยู่ได้ไม่ยาว จะมีการลงถนนเกิดขึ้น หากลุกลามหรือบานปลายอาจส่งผลไม่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่การไม่มีรัฐบาลเลยเป็นเรื่องที่ลำบากมากกว่า เอกชนไม่กล้าลงทุนอะไรมากในช่วงนี้เพื่อรอดูท่าทีรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอย่างไร จะมีผลกระทบกับการลงทุนหรือไม่ แต่หากพอมีการจัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่เอกชนกังวลตามมานั่นคือการชุมนุม การประท้วงที่จะมาบั่นทอนความเชื่อมั่นของนานาประเทศเหมือนที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้” แหล่งข่าวแสดงความเห็น
เอกชนเชื่อมั่น “เศรษฐา”
ไม่เพียงเท่านี้ แหล่งข่าวมองว่ารัฐบาลใหม่มีโจทย์เศรษฐกิจรอให้แก้อยู่จำนวนมาก และถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ นั่นคือการแก้โจทย์เศรษฐกิจระยะยาวว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยโตได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุน ซึ่งคาดว่าหากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เศรษฐกิจไทยอาจจะโตเหลือไม่ถึง 3% ต่อปี
ส่วนกรณีหาก “เศรษฐา ทวีสิน” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลายฝ่ายเชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลมีความเข้าใจในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้เร็วรัฐบาลที่ผ่านมาของ “พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา”
ขณะที่การสลับขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของพรรค “เพื่อไทย” แหล่งข่าวกล่าวว่า ในแง่ส่วนตัวหรือความคิดเห็นประชาชนบางกลุ่มคงไม่พอใจหรือยินยอมต่อเรื่องนี้ แต่ถ้ามองจากแง่ธุรกิจ เราต้องการความชัดเจนด้านนโยบายการบริหารประเทศ จะสนับสนุนด้านใด สร้างโครงการอะไร หรืออะไรห้าม หรือยกเลิกไม่สามารถทำได้มากกว่า
“ภาคธุรกิจมีคนเป็นจำนวนมาก บริษัทต่างๆมีพนักงานเป็นจำนวนมาก หากต้องการเติบโตจะเป็นต้องขับเคลื่อน หากจะมัวแต่ห่วงโน่นพะวงนี่บางทีอาจทำให้ธุรกิจล้มลง เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นไม่เท่าไร แต่พนักงานที่ได้รับผลกระทบจะทำอย่างไร ฉะนั้นการสลับเปลี่ยนขั้วเพื่อให้เกิดความสมดุล มันช่วยตอบโจทย์นั่นคือเศรษฐกิจขับเคลื่อน เรื่องปากท้องมีความสำคัญเช่นกัน”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร จะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยแทนพรรคก้าวไกลหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลัก หากทั้ง 8 พรรคยังคงจับมือกัน เพียงแต่สลับตำแหน่งผู้นำ เป็นเรื่องของข้อตกลงภายในของพรรคการเมือง มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกับการทำธุรกิจที่ต้องมีพันธมิตรมีหุ้นส่วน
“วันที่ 27 ก.ค.นี้ อยากจะให้ได้นายกรัฐมนตรีและมีรัฐบาลตัวจริงภายในเดือนสิงหาคม โดยเชื่อว่าการเมืองยังสามารถเจรจาได้ ขณะเดียวกัน ไม่อยากให้เกิดการชุมนุมนอกกรอบ เพราะจะกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้มีการตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 28-30 ล้านคน ถือเป็นเครื่องยนต์เดียวในการพยุงเศรษฐกิจ หากได้รับผลกระทบจะส่งผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุน”
สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มองว่ามีจุดแข็งในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงาน เพราะมีเครือข่ายมีแนวทางในการขับเคลื่อนชัดเจน มีเป้าหมายคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้น
ภาพรวมดัชนีหลักทรัพย์ (Set Index) หลังจากทะยานขึ้นมาในช่วงปลายปี 2565 จนมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ 1,691 จุดในช่วงต้นปี 2566 จากนั้นดัชนีหลักทรัพย์เคลื่อนไหวในทิศทางขาลงเป็นหลัก แม้บางจังหวะดัชนีจะรีบาวนด์ขึ้นมาบ้าง แต่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาเล็กน้อย
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากเดือน พ.ค.66 ที่มีการเลือกตั้งใหม่พบว่า ดัชนียังอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องจากช่วงต้นปี แม้ช่วงเวลาดังกล่าวหลายฝ่ายเชื่อว่าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งและมีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อมากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนมองว่านโยบายของพรรคเน้นในด้านสังคมมากกว่าเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หลังจากดัชนัหลักทรัพย์ลงมาสร้างจุดต่ำสุดของปีที่ระดับ 1,466.93 จุด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.66 ดัชนีหลักทรัพย์เริ่มรีบาวนด์ขึ้นต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 1,536.64 จุด โดยเฉพาะวันแรก (13 ก.ค.) ที่มีการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าการมีรัฐบาลใหม่จะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนของนโยบายการบริหารประเทศ แม้การเสนอชื่อครั้งแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะยอมลดข้อต่อรอง เพื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลทำให้ดัชนีหลักทรัพย์เคลื่อนไหวในระดับเดิม และเมื่อการเสนอชื่อครั้งที่ 2 ของ "พิธา" ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนครั้งแรก ทำให้ดัชนีหลักทรัพย์อ่อนตัวลงมาแตะ 1,521.18 จุด ก่อนจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 1,529.25 จุด เมื่อนักลงทุนเริ่มคาดหวังว่า "เศรษฐา ทวีสิน" จากพรรคเพื่อไทย มีโอกาสขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ
โดยภาพรวมการซื้อขายสะสมของนักลงทุนตั้งแต่ต้นปี พบว่า นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิออกจากตลาดหุ้นไทยแล้ว 115,681.14 ล้านบาท ตามมาด้วยบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ขายสะสม 5,600.10 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไป (รายย่อย) ซื้อสะสม 75,552.03 ล้านบาท และสถาบันซื้อสะสม 45,729.20 ล้านบาท
ส่วนในเดือนกรกฎาคม 2566 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 8,541.87 ล้านบาท โดยสถาบันเป็นกลุ่มที่ซื้อสะสมมากที่สุด 6,395.98 ล้านบาท บัญชี บล.ซื้อสะสม 1,769.04 ล้านบาท และรายย่อยซื้อสะสมเพิ่ม 376.85 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองที่สั่นคลอน
อย่างไรก็ตาม โดยรวมย้อนหลัง 1 ปี นักลงทุนต่างประเทศขายสะสม 25,616.19 ล้านบาท ตามามาด้วยกลุ่มสถาบันขายสะสม 19,178.55 ล้านบาท บัญชี บล. ขายสะสม 10,463.60 ล้านบาท โดยรายย่อยซื้อสะสม 1 ปี ย้อนหลัง 55,258.33 ล้านบาท
โบรกฯ เฝ้าติดตามใกล้ชิด
นักวิเคราะห์รายหนึ่งแสดงความเห็นถึงตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ว่า ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนอย่างมาก ทำให้นักลงทุนเฝ้าติดตามว่า ประเทศไทยจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้โดยไม่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงที่รุนแรงได้หรือไม่ หลังจาก “นายพิธา” ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีที่ถูกตรวจสอบว่าขาดคุณสมบัติในกรณีถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ ซึ่งทำให้นายพิธา ถูกสกัดไม่ให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง และนำไปสู่การคาดการณ์ที่ว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 2 จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป
สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้นักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ ต้องจับตาการประท้วงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการประท้วงทวีความุรนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคการค้า หลังจากที่ผ่านมา SET Index นั้นเป็นตลาดที่ทำผลงานแย่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
สำหรับประเด็นถัดมาที่นักวิเคราะห์เฝ้าติดตามคือ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย คาดว่าจะเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน รวมถึงต้องติดตามว่าพรรคก้าวไกลจะถูกผลักดันให้ไปเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ดังนั้นช่วงเวลานี้นักลงทุนต่างเฝ้ารอดูความแน่นอนของรัฐบาลชุดใหม่ และคาดหวังว่าจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนขั้วการทางเมือง รวมถึงการประท้วงที่จะรุนแรงมากเพียงใด
“ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรหุ้นไทย และบอนด์ระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติ หลังสถานการณ์การเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งความกังวลของนักลงทุนต่างชาติอาจทำให้ฟันด์โฟลว์มีความผันผวน กดดันให้นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้”
นักวิเคราะห์แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า หลังเลือกตั้งดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง 100 จุด เงินทุนไหลออก 4.7 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้น Outperform เนื่องจากพรรคก้าวไกลผู้ชนะการเลือกตั้งมีนโยบายไม่เอื้อกับตลาดทุน แต่ขณะนี้การเมืองไทยใกล้จะได้ข้อสรุป การโหวตนายกฯ ในสัปดาห์นี้ (27 ก.ค.) คาดว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ และมีโอกาสสูงมากจะจบที่เพื่อไทย ไม่ว่าจะจับมือกับใครก็ตามที
"เพื่อไทยมีความเก่งและถนัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัล การผลักดันอินฟราสตรักเจอร์ขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การโปรโมตการท่องเที่ยว คาดว่านโยบายเหล่านี้จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจประเทศปีนี้โตตามกรอบ 3% และโดยปกติหุ้นจะดีดตอบรับล่วงหน้าเศรษฐกิจเสมอ และเมื่อภาพรัฐบาลชัด หลังได้บุคคลที่จะมานั่งตำแหน่งนายกฯ ถึงรอบที่ SET จะปรับตัวขึ้น อย่างน้อยกลับไปที่จุดเดิมก่อนเลือกตั้งซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,560 จุด และเงินทุนต่างชาติที่เคยไหลออกน่าจะไหลกลับมีโอกาสดัชนีกลับไปที่ 1,600 จุดได้”
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนแตะ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าในปลายสัปดาห์ โดยสัปดาห์นี้จับตาการประชุมธนาคารกลางหลายแห่งทั้ง FED ECB BOJ และโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ของไทย
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าผ่านแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียและการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่เงินดอลลาร์ถูกกดดันในช่วงแรกจากการคาดการณ์ว่า แม้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC วันที่ 25-26 ก.ค.นี้ แต่อาจจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนตอบรับการเดินหน้าของกระบวนการด้านการเมือง
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับตัวลงมากกว่าที่คาดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
สำหรับสัปดาห์นี้ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (25-26 ก.ค.) ECB (27 ก.ค.) และ BOJ (27-28 ก.ค.) สถานการณ์การเมืองไทย และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือน พ.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือน มิ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 (adv.) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เดือน ก.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย และตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน
ดังนั้น โดยรวมนักวิเคราะห์เชื่อว่ารอบขาขึ้นระยะสั้นตลาดหุ้นปิดฉากลงแล้ว โดยปฏิกิริยาตอบรับในเชิงบวก จากการที่นายพิธา ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศคนใหม่กำลังกลายเป็นปัจจัยลบ และนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อหุ้นหลายวันหันมาเทขายหุ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองกดดันตลาดหุ้นครั้งใหม่ โดยนักลงทุนหวั่นไหวการเคลื่อนตัวของมวลชนพรรคก้าวไกล จนอาจเกิดความวุ่นวายตามมา ทำให้กองทุนและต่างชาติได้ชิงขายหุ้นลดความเสี่ยง ก่อนนักลงทุนรายย่อยจะตั้งตัวทัน
ส่วนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ซึ่งกำลังทยอยประกาศ ไม่ใช่ข่าวดีที่จะปลุกตลาดหุ้นให้คึกคักได้เสียแล้ว เพราะมีปัจจัยลบทางการเมืองที่มีน้ำหนักในการชี้นำทิศทางหุ้นมากกว่า ดังนั้นเป้าหมายหุ้น 1,550 จุดคงไปไม่ถึงแล้ว เพราะหุ้นอาจปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มขาลง และอาจลงไปแถวระดับ 1,500 จุดอีกครั้งถ้านักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นต่อเนื่อง