ทบทวนเหตุราคาหุ้น “ณุศาศิริ” ทรุดฮวบ เหตุตลาดหุ้นเตือนหรือมาจากพฤติกรรมของบริษัท พบเพิ่มทุนถี่ แถมหลายธุรกรรมที่ซื้อหุ้นบริษัทอื่นหรือสินทรัพย์ถูกเรียกให้ชี้แจงเนืองเนือง หนำซ้ำบริษัทในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทำให้ไม่แปลกใจที่ถูกเฝ้าจับตา
งานนี้เล่นเอา ผู้บริหารบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA เต้นเหมือนเจ้าเข้าทรง เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ผู้ลงทุนติดตามคำชี้แจงของ NUSA ที่ถูกสั่งให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 1/66 ซึ่งผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เนื่องจากความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรม รวมถึงสิทธิเครื่องหมายทางการค้าและใบอนุญาตต่าง ๆ ในเยอรมนี รวมถึง รายการเกี่ยวกับบริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
นั่นเพราะนับจากนั้น ข่าวที่เกี่ยวกับ NUSA ถูกนักลงทุนกว้านหาจากความอยากรู้ในข้อเท็จจริงต่าง ๆ ขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทดิ่งลง 22.86% จากวันก่อนหน้า (10 ก.ค.อยู่ที่ระดับ 0.70 บาท/หุ้น)ไปเคลื่อนไหวอยู่แถว 0.52- 0.54 บาทต่อหุ้น
เร่งชี้แจงโชว์ศักยภาพแกร่ง
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ NUSA เร่งออกมาชี้แจงว่า การเข้าซื้อโรงแรมที่เยอรมนีในการเปลี่ยนเป็นเงื่อนไขการซื้อเดิมจากการซื้อทรัพย์สิน (โรงแรม รวมถึงสิทธิในใบรับรองใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ) เป็นการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท พานาซี แฟร์วาลทุงส์ จึเอ็มบีเฮช จำกัด (PNCV) ผู้ถือหุ้นใน บริษัท บาดิชเชอร์ โฮเทลแฟร์วัลทุงส์ จีเอ็มบีเฮช จำกัด (BHV) ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ตามสัญญาซื้อทรัพย์สินเดิม เหตุที่บริษัทฯ ไม่รับเงินมัดจำคืนทันที เนื่องจากผู้ขายหุ้นใน PNCV คือบุคคลเดียวกับผู้ขายทรัพย์เดิม และปัจจุบันบริษัทได้รับการโอนกรรมสิทธิในหุ้น PNCV (เจ้าของโรงแรม) มาเป็นของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับบริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ในธุรกิจจัดคอนเสิร์ต Rolling Loud Thailand ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทรายงานว่าได้รับชำระค่าหุ้นจำนวน 1.5 ล้านบาทแล้ว ยังคงเหลืออีกจำนวน 57.5 ล้านบาท โดยได้รับแจ้งขอขยายเวลาชำระคืนเงินเพิ่มทุนและเงินมัดจำรวม 57.5 ล้านบาท เนื่องจากทาง “มอร์ มันนี่” ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังไม่แล้วเสร็จ จึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 90 วัน ทั้งนี้บริษัทยังมีการคิดดอกเบี้ยในเงินส่วนที่ให้มีการขยายระยะเวลาดังกล่าวด้วย
สำหรับประเด็นความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง กรณีเจ้าหนี้ค่างานก่อสร้างของบริษัท ณุศา เลเจนด์ สยาม จำกัด (Legend Siam) โดย China International Economic and Trade Arbitration Commission มีคำชี้ขาดข้อพิพาทให้บริษัทชำระหนี้ของ Legend Siam ซึ่ง ณุศา ถือหุ้น เพียง 50% นั้น ล่าสุดข้อพิพาทในการชำระหนี้ข้างต้น ยังไม่เป็นเหตุให้ผิดนัดในมูลหนี้อื่น เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งศาลเป็นที่สิ้นสุด โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างนัดสืบพยานทั้งสองฝ่ายในศาลแพ่ง
พ้อ! ตลท.เตือนทำกระทบเพิ่มทุน
อย่างไรก็ตาม “วิษณุ เทพเจริญ” กรรมการและประธานบริหาร NUSA กล่าวว่า ข่าวที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาเตือนนักลงทุนให้ระวังและศึกษางบการเงินของบริษัทนั้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น และนักลงทุนอย่างมาก ทำให้ราคาหุ้น NUSA ปรับตัวลดลง และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ในวงเงิน 13,000 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเข้าถือหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) กับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ WEH อาจมีปัญหา
“สาระสำคัญคือผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น NUSA ปรับตัวลดลง ความกังวลดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อดีลการเพิ่มทุน เนื่องจากที่ปรึกษาทางการเงินได้ประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัทไว้ที่กว่า 1 บาท โดยแผนการเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทได้ชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไปแล้ว เหลือเพียงการชี้แจงกับ ตลท.เท่านั้น”
ทั้งนี้ หากไม่มีการเตือนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สถานการณ์ของ NUSA ที่นักลงทุนกำลังจับตาอยู่ขณะนี้ หนีไม่พ้นแผนการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อแลกหุ้น WEH ให้เข้าไปถือเพิ่มอีก 30% จากเดิมที่ NUSA ถือหุ้น WEH อยู่ 7% และจะเพิ่มเป็น 37% หากดีลการเพิ่มทุนสำเร็จ จนมีผลให้บริษัทสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของ WEH เข้ามาในงบการเงินเพิ่มขึ้นระดับ 2,000 ล้านบาท หากประเมินว่า WEH จะมีกำไรในปีนี้ระดับ 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ผลประกอบการของ NUSA พลิกกลับมามีกำไร รวมถึงสามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ หลังจากก่อนหน้านี้ การถือหุ้น WEH แค่ 7% ทำให้รับรู้เงินปันผลเข้ามาถึง 160 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของ NUSA อ้างว่าแผนงานการเพิ่มทุน PP ดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน เพราะจะทำให้ในอนาคต บริษัทจะมีรายได้มาจากธุรกิจหลัก 3 คือ ธุรกิจด้านธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงาน โดยธุรกิจสุขภาพและธุรกิจพลังงานจะเข้ามาเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้อย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าการขยายธุรกิจสู่ธุรกิจพลังงาน จะเป็นดีลที่เป็นประโยชน์กับบริษัท
สำหรับการเพิ่มทุนในครั้งนี้บริษัทจะใช้วิธีแลกหุ้น (SWAP) หุ้น NUSA กับกลุ่ม T1 (กลุ่มผู้ถือหุ้นของ WEH ที่มีอยู่ประมาณ 40 ราย) โดยคาดหากเพิ่มทุนสำเร็จ กลุ่ม T1 จะเข้ามาถือหุ้นใน NUSA สัดส่วนราว 40% ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มเทพเจริญใน NUSA จะลดลงเหลือ 10% จากเดิมที่อยู่ระดับ 20% นั่นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มเทพเจริญยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นลง
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยืนยันว่าแม้หากบริษัท ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจ เพราะบริษัทมีทรัพย์สินที่มีแวลูมากกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งหากตัดขายสินทรัพย์บางส่วนออกไปก็มีศักยภาพในการชำระหนี้ได้ ขณะที่ในส่วนของภาระหนี้สินปัจจุบันแบ่งเป็นหุ้นกู้ประมาณ 3,000 ล้านบาท, หนี้ค่างานก่อสร้างเลเจนด์ สยามราว 1,700 ล้านบาท และหนี้สถาบันการเงินจากบริษัทลูกราว 200-300 ล้านบาท
ผลงานเก่าตัวบั่นทอนความเชื่อถือ
แต่จริงๆแล้ว หลายคนมองว่าแม้จะมีคำชี้แจงของผู้บริหาร NUSA ออกมา ก็ใช่ว่าจะช่วยให้ราคาหุ้นของบริษัทกลับมาเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 1.00 บาท/หุ้นได้ สิ่งนี้รวมไปถึงไฮโซคนดังที่อุตส่าห์ออกมาช่วยแถลงไขถึงความสามารถของบริษัทที่พร้อมจะจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆผ่านช่องทางโซเชี่ยลเนตเวิร์คด้วย นั่นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นของ NUSA มากกว่าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของบริษัท
ถ้าย้อนไปดูแบ็กกราวด์ของ NUSA นั้นเริ่มมาจากการเป็นบริษัทที่แบ็กดอร์ บมจ. ไทยเกรียง กรุ๊ป (TDT) เข้าตลาดหุ้นมา ซึ่งตอนนั้น TDT กำลังย่ำแย่ เนื่องจากธุรกิจสิ่งทอซบเซา ทำให้ผลประกอบการขาดทุนเรื้อรังต่อมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่มาเป็น “กลุ่มเทพเจริญ” โดยมีการปรับโครงสร้างธุรกิจโละธุรกิจสิ่งทอทิ้งไป แล้วหันมาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ชื่อ บมจ.อั่งเป่า แอสเสท (PAO) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่ออีกรอบเป็นบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ในปัจจุบัน
สำหรับ NUSA นั่นคือภายใต้การนำของ “กลุ่มเทพเจริญ” มีการพยายามขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก รวมทั้งรุกไปสู่ธุรกิจเฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ รับกระแสรักสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ NUSA นั้นแสดงตัวเลขกำไรไม่ค่อยโดดเด่น แถมมาเจอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามากดดันในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า ทำให้ NUSA พยายามปรับตัวลดพอร์ตอสังหาฯ แล้วหันไปบุกธุรกิจเฮลท์แคร์มากขึ้น พร้อมกับมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่อีกรอบ โดย “กลุ่มกิตติอิสรานนท์” ที่นำโดย “ประเดช กิตติอิสรานนท์” ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่ แทน “กลุ่มเทพเจริญ” ที่ค่อย ๆ ถอยออกมา
โดยเมื่อต้นปีนี้ NUSA สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศเข้าถือหุ้น WEH ด้วยการสว็อปหุ้น ทำให้พอร์ตของ NUSA มีทั้งธุรกิจเฮลท์แคร์และธุรกิจไฟฟ้า ผ่าน WEH ซึ่งมีแผนที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าอีกหลายโครงการ ดังนั้นการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน DEMCO ของบริษัทเมื่อปลายปีก่อน จึงถูกอ้างว่าเป็นการต่อยอดให้ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงเพื่อการฟื้นตัวของผลประกอบการ
ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่อย่าง“กิตติอิสรานนท์” ก็รับทรัพย์ก้อนโตเข้ากระเป๋าร่วม 850 ล้านบาท นั่นเพราะ “ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง” ผู้ขายให้บริษัท ก็เป็นของ“กลุ่มกิตติอิสรานนท์” ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังทำให้ “ประเดช กิตติอิสรานนท์ ” ถือหุ้นใน WEH ด้วยสัดส่วนกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนและมีอำนาจบริหาร WEH อย่างเบ็ดเสร็จ ภายหลังจากเกมแลกหุ้น นั่นเพราะ NUSA ซึ่งกลุ่มนายประเดช ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว ช่วยเข้าไปถือหุ้น WEH ในสัดส่วน 8.04%
ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้น ต้องไม่ลืมว่าราคาหุ้น NUSA ถูกลากขึ้นมาจาก 39 สตางค์ โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรรองรับ ทั้งที่ผลประกอบการบริษัทยังขาดทุนต่อเนื่อง และไม่มีพัฒนาการทางธุรกิจใดๆ ที่ทำให้มั่นใจว่าผลประกอบการจะดีขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ยังทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย NUSA จะต้องแบกรับจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นอีก 3,939 ล้านหุ้น ทำให้ตัวหารผลประกอบการเพิ่มขึ้น ทั้งที่บริษัทมีผลประกอบการที่ขาดทุนอยู่แล้ว นั่นย่อมหมายถึงราคาหุ้นที่รูดลง
“กิตติอิสรานนท์”รับประโยชน์บ่อย
สิ่งเหล่านี้ช่วยสะท้อนว่าการจ่ายค่ามัดจำซื้อหุ้นบริษัทอื่นหรือซื้อทรัพย์สินใด ๆ ของ NUSA ก่อนหน้านี้นั้นถูกจับตาว่า อาจเป็นหนึ่งในช่องทางการผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน แม้ไม่อาจระบุได้ว่ามีการผ่องถ่ายเงินจริงหรือไม่ รวมถึงไม่อาจห้ามนักลงทุนไม่ให้สงสัยในพฤติกรรมได้
เพราะหลายปีก่อนหน้า NUSA มีธุรกรรมการซื้อหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินมากมายที่ถูกตั้งข้อสงสัย โดยเงินจำนวนมาก หุ้นเพิ่มทุนจำนวนมาก ถูกถ่ายออกไปจากบริษัท แต่รายได้กลับเข้าบริษัทมีเพียงน้อยนิด ทำให้ขาดทุนต่อเนื่องถึง 5 ปี
ขณะเดียวกันการซื้อหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินของ NUSA มักพัวพันวกวนในกลุ่มบริษัทพันธมิตรเดียวกัน โดยผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดมักเป็นกลุ่ม นายประเดช กิตติอิสรานนท์ นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งคุมอำนาจเบ็ดเสร็จใน WEH และ USA
ไม่เพียงเท่านี้ที่ผ่านมาหุ้น NUSA มักจะร้อนแรง เมื่อมีวาระพิเศษเช่นในช่วงต้นปี 2565 ซึ่ง NUSA ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 3,939 ล้านหุ้น เพื่อแลกหุ้น WEH จำนวน 8.75 ล้านหุ้น หรือ 8.04% ในสัดส่วน 1 หุ้น WEH ในราคาหุ้นละ 405 บาท แลกหุ้น NUSA จำนวน 450 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 90 สตางค์ ทำให้ราคาหุ้น NUSA ถูกลากขึ้นไปสูงสุดถึง 1.83 บาท ก่อนถอยลงมาจนล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ 50 สตางค์เศษ ขณะที่นักลงทุนที่เข้าไปเล่นหุ้นหลายรายต้องเจ็บหนัก เช่นเดียวกับหุ้น บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO ที่ถูกลากขึ้นสูงสุดที่ 6.45 บาท จากข่าว NUSA ซื้อหุ้น DEMCO จำนวน 170 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 5 บาท จากบริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม WEH และกลุ่มคนในตระกูลนายประเดช
และภายหลังซื้อขายหุ้นไปแล้วเมื่อปลายปี 2565 NUSA ขอให้ผู้ถือหุ้นลงสัตยาบันรายการซื้อหุ้น แต่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระไม่เห็นด้วยที่ เพราะเงื่อนไขการซื้อหุ้นไม่เหมาะสม ด้วยรายการซื้อหุ้น DEMCO มีปม เพราะ NUSA ไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน แต่บริษัท ธนา พาวเวอร์ฯ ในฐานะผู้ขาย กลับสนับสนุนเงินกู้ 600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 8.75% ต่อปีให้ NUSA ใช้ซื้อหุ้น
ส่วนด้าน DEMCO ไม่ได้จ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้น แต่ NUSA ต้องจ่ายดอกเบี้ยและหุ้นที่ซื้อมา รวมถึงขาดทุนแล้วกว่า 340 ล้านบาท เพราะราคาหุ้น DEMCO ล่าสุดร่วงลงมาต่ำกว่า 3.00 บาท สะท้อนว่ากลุ่มผู้ขายโกยกำไรไปเรียบร้อย พร้อมทิ้งภาระขาดทุนให้ผู้ถือหุ้น NUSA ต้องแบกรับ
หวังไม่ซ้ำรอย STARK
นอกจากนี้ ยังมีรายการที่ บริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด บริษัทในกลุ่ม NUSA ซึ่งเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ณุศา รีเจนต์ สยาม จำกัด จำนวน 4 ล้านหุ้นหรือ 100% ของทุนจดทะเบียน ในราคา 1,700 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2564 ซึ่ง NUSA ต้องเพิ่มทุนให้ "ณุศา ซีเอสอาร์" และผลประกอบการก็ย่ำแย่ไม่แพ้บริษัทแม่ โดยปี 2565 ขาดทุนกว่า 1,200 ล้านบาท และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกการกระทำของบริษัทจะถูกตลาดหลักทรัพย์ฯเฝ้าจับตา เพราะหวั่นว่าชะตากรรม อาจจบลงเหมือน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK
ดังนั้น ถ้าปมธุรกรรมซื้อขายทรัพย์สินของ NUSA มี ก.ล.ต.เร่งเข้ามาสะสาง หรือเร่ง รื้อค้นตรวจสอบ ล้อมคอกก่อนวัวหาย บางทีอาจช่วยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนเกือบ 1 หมื่น ไม่ต้องจบเห่ เหมือนผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STARK
พบเพิ่มทุนไม่ขาด
สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมนั่นคือ พฤติกรรมการเพิ่มทุนของ NUSA นั้นนับตั้งแต่แบล็กดอร์เข้าตลาดหุ้นมา พบว่ามีการเพิ่มทุนแทบทุกปีไม่ขาด ซึ่งการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP หรือแบบเฉพาะเจาะลงให้กับพันธมิตร ก็คือสูตรการใช้เงินคนอื่น หรือ OPM มาขยายกิจการ โดยไม่ต้องใช้เงินให้มาก ถือเป็นของถนัดของผู้ถือหุ้นใหญ่ NUSA ที่เน้นทำธุรกิจด้วยการสร้างความมั่นคงแบบคู่ขนาน ในธุรกิจส่วนตัว และธุรกิจบริษัทมหาชน ที่ตนเองและครอบครัวถือหุ้นใหญ่ปนเปกันจนวุ่นวาย และถูกเรียกให้ชี้แจงบ่อยครั้ง
นอกจากนี้การเพิ่มทุนแบบนี้ มันก็ทำให้หลายคนมองว่า เป็นการถมที่ไม่เคยเต็ม ขณะที่เหตุผลหลักที่อ้าง ก็หนีไม่พ้นว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียน และเงินลงทุนในโครงการ
ดังนั้น หากจะให้สรุปก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจมากนัก เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯจะออกมาเตือนนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน ก็เมื่อ NUSA ถือว่าเป็นลูกค้าขาประจำของ ก.ล.ต. และ ตลท. ที่มักจะถูกเรียกมาให้ใช้บริการ เพียงแต่งานนี้ ตลท.ออกตัวก่อนก็เท่านั้น ส่วน NUSA หากไม่อยากให้ราคาหุ้นหล่นฮวบ ก็แค่ทำอะไรให้มันเคลียร์ ๆ จะได้ไม่กระทบกับโครงการใหญ่ที่วาดฝันเอาไว้