xs
xsm
sm
md
lg

NUSA ฝีแตก (จบ) / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA มี 2 ใน 3 ปมใหญ่ที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังเข้าไปสะสางคือ การซื้อหุ้นโรงแรมในประเทศเยอรมนี และการซื้อหุ้นบริษัทลูก บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และทั้ง 2 ปมนำไปสู่ข้อสงสัยในพฤติกรรมของผู้บริหารบริษัท

การซื้อโรงแรมในเยอรมนี ผู้บริหาร NUSA อนุมัติจ่ายเงินมัดจำไปแล้ว 624 ล้านบาท หรือ 84% ของวงเงินซื้อไม่เกิน 720 ล้านบาท โดยไม่มีการระบุว่าผู้ขายที่แท้จริงเป็นใคร มีความเกี่ยวโยงกับ NUSA หรือไม่ และมีความจำเป็นอะไรต้องจ่ายมัดจำล่วงหน้า

ส่วนการซื้อหุ้นบริษัทลูกของ MORE ซึ่งนายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษในความผิดปั่นหุ้น นำไปสู่คำถามว่า ทำไมผู้บริหาร NUSA จึงซื้อหุ้นกลุ่ม MORE โดยจ่ายเงินเพิ่มทุนและค่ามัดจำไป 57.7 ล้านบาทด้วย

การจ่ายค่ามัดจำซื้อหุ้นบริษัทอื่นหรือซื้อทรัพย์สินใดก็ตาม ก่อนหน้านั้นถูกจับตาว่า เป็นหนึ่งในช่องทางการผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน

บริษัท โพลารีส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR ซึ่งล่มสลายแทบจะกลายเป็นซาก เคยจ่ายเงินค่ามัดจำ 120 ล้านบาท ซื้อหุ้นเดย์ โพเอทส์ จำกัด เจ้าของนิตยสาร A Day และจ่ายค่ามัดจำซื้อที่ดิน 350 ล้านบาท แต่สุดท้ายไม่มีการซื้อขายจริง โดยเงินมัดจำรวม 470 ล้านบาท สูญหายไปในอากาศ และอาจมี “เงินทอน” ระหว่างผู้ที่ตัดสินใจซื้อและผู้ขายที่ยึดเงินมัดจำไว้

ไม่อาจระบุได้ว่า ผู้บริหาร NUSA ผ่องถ่ายเงินหรือไม่ แต่ไม่อาจห้ามนักลงทุนไม่ให้สงสัยในพฤติกรรมได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการซื้อโรงแรมในเยอรมนี ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมต้องวางเงินมัดจำสูงถึง 624 ล้านบาท และยังไม่ยอมเปิดเผยตัวตนผู้ขายเสียด้วย

การขุดคุ้ยความลับลมคมในของ NUSA เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้จุดชนวน

หลายปีก่อนหน้า NUSA มีธุรกรรมการซื้อหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินบริษัทมากมายที่ถูกตั้งข้อสงสัย โดยเงินจำนวนมาก หุ้นเพิ่มทุนจำนวนมากถูกถ่ายออกไปจากบริษัท แต่รายได้กลับเข้าบริษัทมีเพียงน้อยนิด ทำให้ขาดทุนต่อเนื่องถึง 5 ปี

การซื้อหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินของ NUSA มักพัวพันวกวนในกลุ่มบริษัทพันธมิตรเดียวกัน โดยผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดมักเป็นกลุ่ม นายประเดช กิตติอิสรานนท์ นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH บริษัทเดียวที่ปั๊มเงินมหาศาลให้กลุ่มนายประเดช

และกลุ่มนายประเดช ยังคุมอำนาจเบ็ดเสร็จใน NUSA

หุ้น NUSA มักจะร้อนแรงเมื่อมีวาระพิเศษ โดยเฉพาะต้นปี 2565 ซึ่ง NUSA ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 3,939 ล้านหุ้น เพื่อแลกหุ้น WEH จำนวน 8.75 ล้านหุ้นหรือ 8.04% ของทุนจดทะเบียน ในสัดส่วน 1 หุ้น WEH ในราคาหุ้นละ 405 บาท แลกหุ้น NUSA จำนวน 450 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 90 สตางค์

ราคาหุ้น NUSA ถูกลากขึ้นไปสูงสุดถึง 1.83 บาท ก่อนถอยลงมาจนล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ 50 สตางค์เศษ นักลงทุนที่เข้าไปเล่นหุ้น NUSA ต้องเจ็บหนัก

การแลกหุ้น NUSA กับ WEH ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ กลุ่มนายประเดช เพราะได้คะแนนเสียงโหวตในการประชุมผู้ถือหุ้น WEH เพิ่มขึ้นอีก 8% ทำให้คุมเสียงโหวตเกิน 50% ของทุนจดทะเบียน นำไปสู่การยึดอำนาจบริหาร WEH ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ

เช่นเดียวกับหุ้นบริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO ที่ถูกลากขึ้นสูงสุดที่ 6.45 บาท จากข่าว NUSA ซื้อหุ้น DEMCO จำนวน 170 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 5 บาท จากบริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม WEH และกลุ่มคนในตระกูลนายประเดช

ภายหลังซื้อขายหุ้นไปแล้วเมื่อปลายปี 2565 NUSA ขอให้ผู้ถือหุ้นลงสัตยาบันรายการซื้อหุ้น แต่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระไม่เห็นด้วยที่ผู้ถือหุ้นจะลงสัตยาบัน เพราะเงื่อนไขการซื้อหุ้นไม่เหมาะสม

รายการซื้อหุ้น DEMCO มีปมอีก เพราะ NUSA ไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน แต่บริษัท ธนา พาวเวอร์ฯ ในฐานะผู้ขายกลับสนับสนุนเงินกู้จำนวน 600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 8.75% ต่อปีให้ NUSA ซื้อหุ้น

DEMCO ไม่จ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้น แต่ NUSA ต้องจ่ายดอกเบี้ย และหุ้นที่ซื้อมาขาดทุนแล้วกว่า 340 ล้านบาท เพราะราคาหุ้น DEMCO ล่าสุดร่วงลงมาต่ำกว่า 3 บาท

แต่กลุ่มนายประเดช โกยกำไรไปเรียบร้อย ทิ้งภาระขาดทุนให้ผู้ถือหุ้น NUSA ต้องแบกรับ

รายการลงทุนหรือซื้อหุ้น ซื้อทรัพย์สินของ NUSA แต่ละรายการจะมีเงื่อนปมและถูกตรวจสอบอยู่หลายครั้ง รวมทั้งการที่บริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด บริษัทในกลุ่ม NUSA ซึ่งเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ณุศา รีเจนต์ สยาม จำกัด จำนวน 4 ล้านหุ้น หรือ 100% ของทุนจดทะเบียน ในราคา 1,700 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2564 ซึ่ง NUSA ต้องเพิ่มทุนให้ “ณุศา ซีเอสอาร์”

ผลประกอบการของบริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด ย่ำแย่ไม่แพ้บริษัทแม่ หรือ NUSA โดยปี 2565 ขาดทุนกว่า 1,200 ล้านบาท และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ

หุ้น NUSA เริ่มออกอาการไม่ดีระยะหนึ่งแล้ว เหมือนฝีที่ใกล้จะแตก เพราะปมธุรกรรมซื้อทรัพย์สินหรือซื้อหุ้นบริษัทอื่นกำลังถูกตลาดหลักทรัพย์ตรวจค้น

นักลงทุนหันมาเฝ้าจับตาด้วยความกังวลว่า ชะตากรรมของหุ้น NUSA อาจจบลงเหมือน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

คดี STARK เป็นกรณีวัวหายแล้วล้อมคอก เพราะ ก.ล.ต.ลงไปแก้ปัญหาเมื่อบริษัทเหลือแต่ซาก

แต่ปมธุรกรรมซื้อขายทรัพย์สินของ NUSA ถ้า ก.ล.ต.เร่งเข้าไปสะสาง เร่งรื้อค้นตรวจสอบ ล้อมคอกก่อนวัวหาย บางทีอาจช่วยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนเกือบ 1 หมื่น ไม่ต้องจบเห่ หมดตัวเหมือนผู้ถือหุ้นรายย่อย STARK








กำลังโหลดความคิดเห็น