ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังสามารถเติบโตได้ 3.4% ตามที่เคยประเมินไว้ ด้วยแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียว แต่ต้องจับตาสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบต่อบรรยากาศการเดินทาง ขณะที่ภาวะการส่งออกซึ่งยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง
Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตได้ 3.4% ด้วยการขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 10.7 ล้านคน เติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม ซึ่งตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 มีโอกาสที่จะแตะระดับ 29.0 ล้านคน สูงกว่า 27.1 ล้านคนที่เคยคาด ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง หลังมูลค่าการส่งออกล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยติดลบที่ -4.6%YoY
ทั้งนี้ หากมองต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงชัดเจน โดยภาคการผลิตของกลุ่มเศรษฐกิจหลักหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอลงของภาคบริการในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ประกอบกับการฟื้นตัวของจีนแผ่วลงกว่าที่เคยคาด นอกจากนี้ ธนาคารกลางหลักฝั่งตะวันตกต่างมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและถือเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยต่อไป ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 จะหดตัว -1.6% เทียบจากปีก่อนที่สามารถขยายตัวได้ 5.5% อย่างไรก็ตาม แรงส่งของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น จะหนุนการจ้างงาน และอุปสงค์ภายในประเทศให้สามารถประคับประคองการฟื้นตัวได้ต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2566
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะปัจจัยด้านลบที่รุมเร้ามากขึ้น จากการค้าโลกที่อาจชะลอตัวกว่าคาดและมีโอกาสที่เขตเศรษฐกิจหลักบางส่วนจะประสบภาวะหดตัวในปลายปีนี้ รวมถึงภาวะการเงินยังตึงตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุนภาครัฐให้ล่าช้า ประกอบกับสถานการณ์ดังกล่าวอาจกระทบต่อบรรยากาศด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเพียงเครื่องยนต์หลักตัวเดียวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยดังกล่าวและประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ขณะที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องวางแผนรองรับเหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงอีกด้วย