นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 มิ.ย.) ที่ระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.20 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้าน 35.15 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะปรับตัวลดลง (ราคาทองคำลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือน)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่แผ่วลงชัดเจนในช่วงก่อนหน้า โดยมีจุดเปลี่ยน คือ การพลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ และทะลุโซนแนวต้านถัดไปที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยหนุนการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่มักมาพร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ ทำให้เงินบาทถูกกดดันจากโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าในโซน 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ อาจยังพอเห็นผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ เช่น ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ แต่เรามองว่า เงินบาทอาจเปลี่ยนโซนในการแกว่งตัว โดยเงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวเหนือระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงนี้ หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนการแข็งค่าของเงินบาท อีกทั้งในช่วงปลายเดือนจะเริ่มมีโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้ามากขึ้น
ทั้งนี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของทั้งฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะดัชนี PMI ของสหรัฐฯ (เวลา 20.45 น.) เนื่องจากหากข้อมูลออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลงชัดเจน อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง ในทางกลับกัน หากข้อมูลออกมาดีกว่าคาดชัดเจนอาจยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
นอกจากนี้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ยอดการส่งออกและนำเข้าของไทย (10.30 น.) อาจสร้างความผันผวนหรือแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ หากยอดการส่งออกหดตัวมากกว่าคาด ทำให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้
แม้ว่าบรรยากาศโดยรวมของตลาดการเงินจะถูกกดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทว่าในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.37% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Amazon +4.3% Alphabet +2.2%) หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อได้ แต่อาจจะไม่ได้เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้มากอย่างที่เฟดส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้ง
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.51% หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สูงกว่าที่ตลาดคาด และยังส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ
ในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี ทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปต่างปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี บรรยากาศในตลาดการเงินที่ผู้เล่นยังคงระมัดระวังตัวและบางส่วนยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว มีส่วนช่วยหนุนให้ บอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 3.80% ที่เราเคยประเมินไว้ โดยเราคงมองว่าผู้เล่นในตลาดจะใช้โอกาสที่บอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ มีแนวโน้มทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.20-3.50% ในช่วงปลายปีนี้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.4 จุด อีกครั้ง โดยเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่มียิลด์สูงในช่วงตลาดผันผวน และแรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมองว่าเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้บ้าง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับแรกแถว 1,940-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของทั้งฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวผ่านรายงานดัชนี PMI
โดยตลาดประเมินว่า ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี PMI ในเดือนมิถุนายน อาจยิ่งสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง โดยภาคการผลิตจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ระดับ 48.3 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) อย่างไรก็ดี ภาคการบริการจะยังสามารถขยายตัวได้ หนุนโดยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว โดยดัชนี PMI ภาคการบริการจะอยู่ที่ระดับ 54 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่าภาคการผลิตของทั้งยูโรโซนและอังกฤษมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่อง กดดันโดยต้นทุนการผลิต ต้นทุนการเงินที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะจีนที่ชะลอตัวลง ทำให้ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 44.5 จุด และ 46.8 จุด ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการของยูโรโซนและอังกฤษที่ระดับ 54.5 จุด และ 54.8 จุด
และในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวได้ดีจากอานิสงส์การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.1 จุด อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอาจชะลอลงตามความต้องการสินค้าที่ลดลงจากบรรดาประเทศคู่ค้าซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจลดลงสู่ระดับ 50 จุด
ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดการส่งออกและนำเข้า โดยตลาดประเมินว่ายอดการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมอาจหดตัวต่อเนื่อง -6%y/y ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ (สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวลดลง) ส่วนยอดการนำเข้าจะหดตัวกว่า -9%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าจะขาดดุล -390 ล้านดอลลาร์