xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.79 จับตาถ้อยแถลงเฟดวันที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 มิ.ย.) ที่ระดับ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.90 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงใกล้แนวรับ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังตลาดมองว่าถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ไม่ได้มีความแตกต่างจากสิ่งที่ได้กล่าวในช่วงการประชุมเฟดมากนัก

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้บ้าง แต่ทว่า เรายังคงมองว่าเงินบาทอาจไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB และขายเงินดอลลาร์สำหรับผู้ส่งออกบางส่วน

นอกจากนี้ ในช่วงเย็นราว 18.00 น. เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้หาก BOE ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกหลายครั้ง จนกว่าจะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง แต่ทั้งนี้ เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมาก โดยเราประเมินว่าแนวรับในระยะสั้นอาจอยู่ในโซน 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้าที่จะเริ่มทยอยซื้อเงินดอลลาร์ สำหรับธุรกรรมช่วงปลายเดือน รวมถึงแรงซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงนี้

นอกจากนี้ ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มเป็นฝั่งขายสุทธิ โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น หลังดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากที่รีบาวนด์ขึ้นชัดเจนในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยกลับเข้าซื้อบอนด์ไทยมากขึ้นได้ หลังจากที่บอนด์ยิลด์ได้ปรับตัวขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา และเราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla -5.5% Alphabet -2.1%) หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อได้ จากถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสที่ยังคงย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -1.21% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.52%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.50% หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า บรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้กดดันให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ฝั่งยุโรปปรับตัวลดลง เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ (Adyen -1.7% ASML -1.6%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.2% Shell +1.8%) ตามการรีบาวนด์ขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

ในส่วนตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 102 จุด หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสที่ไม่ได้แตกต่างจากการแถลงหลังประชุมเฟด เนื่องจากประธานเฟดยังคงเน้นย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดได้รับรู้มุมมองดังกล่าวไปมากแล้ว ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะมีจังหวะปรับตัวลงแรงทดสอบโซนแนวรับ แต่การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลังตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวนด์ขึ้นสู่โซน 1,940-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ของทองคำได้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมที่ออกมาสูงถึง 8.7% (สูงกว่าที่ตลาดคาดและเป็นการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ) จะส่งผลให้ BOE จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 4.75% พร้อมกับส่งสัญญาณชัดเจนว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังมีความจำเป็น (ผู้เล่นในตลาดคาดว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยจนถึงระดับ 5.75%)

นอกจากนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงาน พร้อมทั้งจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะการแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น