DITTO ควงพันธมิตรธุรกิจ TEAMG คว้าสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการจัดการสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท เผย ใช้เทคโนโลยีทันสมัยผสานกับความเป็นเอกลักษณ์ไทย บนพื้นที่พระราชทานเกือบ 80 ไร่ พร้อมดึงศิลปินแห่งชาติร่วมงาน คาดเปิดปี 2571
นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผย ว่า DITTO และบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด หรือ STC ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ร่วมกับบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ระยะที่ 2 โครงการจัดการสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่า 2,044 ล้านบาท โดย DITTO และบริษัทย่อย มีสัดส่วนในโครงการข้างต้นรวม 49.50% คิดเป็นมูลค่า 1,011,780,000 บาท และ TEAMG มีสัดส่วน 24.50% คิดมูลค่า 500,780,000.00 บาท
โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงสมบัติของชาติ แสดงองค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าของประเทศไทย ให้ประชาชนเกิดความรัก หวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ เกิดจิตสำนึกร่วมกันในการพิทักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ในการจัดแสดงงานศิลปะ ด้านประติมากรรม จิตรกรรม งานฝีมือต่างๆ ของช่างไทย จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สร้างโดยคนไทยเอง มีความยิ่งใหญ่อลังการ ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ไม้มีค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนเพื่อเป็นสถานที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะของพระบรมวงศานุวงศ์และแขกของรัฐบาล โดยนำไม้มีค่าที่หายากและมีมูลค่าสูง 6 ชนิดคือ ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ไม้มะค่า ไม้แดง และไม้ประดู่ ที่เป็นของกลางคดีลักลอบ เมื่อสิ้นสุดคดีลงจึงตกเป็นของแผ่นดิน รัฐบาลจึงเห็นควรนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับแผ่นดิน โดยไม้มีค่าเหล่านี้นำมาแปรรูปและตกแต่งภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยมูลค่าไม้ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท
ส่วนพื้นที่ที่ใช้ในการจัดสร้างนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย จำนวน 79 ไร่ 2 งาน 60.9 ตารางวา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าประมาณ 37 ไร่ ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าเสร็จสมบูรณ์ในปี 2571
ภายในโครงการมีการออกแบบอาคารโดยเน้นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ ตัวอาคารเป็นตึก 4 ชั้น พื้นที่ 25,050 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องโถง ห้องจัดแสดง ห้องต้อนรับ ร้านค้าขายของที่ระลึก ห้องบรรยายประวัติศาสตร์ประเทศไทย ห้องรับรอง ห้องประชุม เป็นต้น ในระหว่างทางเดินโดยรอบจะเขียนภาพประวัติความเป็นมาประเทศไทย มีงานประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนังมาประดับประกอบ
“และที่พิเศษ คือ ห้องแสดงพระราชกรณียกิจ ห้องสำหรับจัดแสดงไม้พะยูงโดยเฉพาะ ภายในห้องนั้นจะตกแต่งด้วยไม้พะยูงทั้งหมด นอกจากนี้ จะมีอาคารพิพิธภัณฑ์ศาลาไทย ภายนอกอาคารจะมีภูมิทัศน์เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ไว้เพื่อการเรียนรู้” นายฐกร กล่าว
นายฐกร กล่าวต่อไปอีกว่า ในโครงการนี้ DITTO และ TEAMG ได้ผนึกความเชี่ยวชาญกัน โดย DITTO มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบดิจิทัล ซึ่งโครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีแสง สี เสียง มาตรฐานระดับโลก อีกทั้งยังนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการไม้ที่มีมูลค่าสูงและเป็นสมบัติของชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงนำระบบ BIM (Building Information Modeling) และเทคโนโลยี Digital Twin มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและควบคุมอาคารและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งภายในอาคารยังออกแบบโดยคำนึงถึงแนวทางชีวิตวิถีใหม่โดยลดจุดสัมผัสของผู้ใช้บริการอย่างสอดคล้องกลมกลืนกับการตกแต่ง นอกจากนี้ STC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยยังมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ มีประสบการณ์ในโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่หลายแห่ง
สำหรับ TEAMG นั้นมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในงานวิศวกรรมขั้นสูงในแขนงต่างๆ จำนวนมาก สามารถทำการออกแบบอาคาร ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงการบริหารโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“นอกจากนี้ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม ปี 2557 จะมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและตกแต่งจิตรกรรมฝาผนังพิพิธภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นอีกด้วย” นายฐกร กล่าว