xs
xsm
sm
md
lg

สร้างชื่อต่อเนื่อง! “ทองไมย์” อาจารย์ทัศนศิลป์ มรภ.โคราช คว้ารางวัลใหญ่ “เหรียญทองบัวหลวง” พร้อมอีก 2 รางวัลดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สร้างชื่อต่อเนื่อง! “ทองไมย์” อาจารย์ทัศนศิลป์ มรภ.โคราช คว้ารางวัลใหญ่ “เหรียญทองบัวหลวง” ประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย ชื่อผลงาน “กระต่ายตื่นตูม” พร้อมเงินรางวัล 2 แสน และอีกหนึ่งรางวัลชมเชย 1 แสนจากการประกวดศิลปกรรมช้างเผือกครั้งที่ 12 ขณะ “จรงค์” อาจารย์ทัศนศิลป์อีกคนได้รางวัลชมเชย จิตรกรรมเอเชียพลัส ครั้งที่ 11

วันนี้ (9 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.นครราชสีมา) หน้าองค์พระพุทธทศพลญาณ พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ศาสตราจารย์ ดร.สามารถ จับโจร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประติมากรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมคณาจารย์ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ มรภ.นครราชสีมาได้มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีและชื่นชม ผศ.ทองไมย์ เทพราม ประธานหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ และ อ.จรงค์ เจริญสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ มรภ.นครราชสีมา ในโอกาสที่ได้รับรางวัลจากการส่งผลงานจิตรกรรมเข้าประกวด 3 รายการใหญ่ชื่อดังระดับประเทศ สร้างชื่อเสียงให้กับหลักสูตรฯ และมหาวิทยาลัยฯ พร้อมกันถึง 3 รางวัล

ศาสตราจารย์ ดร.สามารถ จับโจร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประติมากรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี
ผศ.ทองไมย์ เทพราม ประธานหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คว้ารางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย จากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 44 ประจำปี 2566 โดยมูลนิธิบัวหลวง ในชื่อผลงาน “กระต่ายตื่นตูม” พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท และทุนสำหรับไปทัศนศึกษางานศิลปะในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ปีนี้จิตรกรรมบัวหลวงมีการจัดประกวดทั้งหมด 3 ประเภท คือ 1. จิตรกรรมไทยแบบประเพณี 2. จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และ 3. จิตรกรรมร่วมสมัย ซึ่งมีเพียงประเภทจิตรกรรมร่วมสมัยเท่านั้นที่คณะกรรมการได้คัดเลือกและตัดสินให้ได้รับรางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง คือผลงาน “กระต่ายตื่นตูม” ของ ผศ.ทองไมย์ เทพราม ซึ่งถือเป็นรางวัลเหรียญทองหนึ่งเดียวในการประกวดปีนี้ ขณะที่อีก 2 ประเภท คือ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี และจิตรกรรมไทยแนวประเพณี มีผลงานได้รับรางวัลสูงสุด คือ รางวัลที่ 2 และรางวัลที่ 3 ตามลำดับ เท่านั้น


ส่วนอีกหนึ่งผลงานของ อ.ทองไมย์ ได้รับรางวัลชมเชย จากการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 ประจำปี 2566 หัวข้อ "รักโลก" (Cherise The World) จัดโดย บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในชื่อผลงาน "น้องต้นหนาวและผองเพื่อน" พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท

ขณะที่ อ.จรงค์ เจริญสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ อีกคน ได้รับรางวัลชมเชย เงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท จากการประกวดจิตรกรรมเอเชียพลัส ครั้งที่ 11 ประจำปี 2566 โดย บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หัวข้อ "อนาคต" (The Future) ในชื่อผลงาน “กำเนิดแว่นตรวจจับเชื้อไวรัส” ขนาด 18x150 ซม. เทคนิคสีอะคริลิกบนผืนผ้าใบ

อ.จรงค์  เจริญสุข  กับ ผศ.ทองไมย์ เทพราม
ผศ.ทองไมย์ เทพราม เจ้าของรางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง การประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 44 ประเภท จิตรกรรมร่วมสมัย เปิดเผยว่า ผลงาน “กระต่ายตื่นตูม” เป็นจิตรกรรม ขนาด 150 x 180 เซนติเมตร สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีอะคริลิกและดินสอบนผ้าลินิน สำหรับแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนั้น “กระต่ายตื่นตูม” เป็นสำนวนใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน เป็นสำนวนที่สะท้อนให้เห็นลักษณะของคนในสังคมปัจจุบันที่ขาดสติในการรับรู้ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ จนตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ หรือแม้กระทั่งการหลอกลวง ต้มตุ๋น ฉ้อโกง จนเกิดความเสียหายเพียงเพราะการขาดสติยั้งคิดหลงเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

ตนสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติให้คนในสังคมใช้สติและปัญญาในการพิจารณารับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ โดยใช้รูปทรงของเด็กสวมชุดสัตว์กำลังตื่นกลัวและวิ่งหนีสิ่งที่มองไม่เห็น โดยใช้ใบหน้าของเด็กที่ถูกปิดตาเป็นสื่อสัญลักษณ์แทนบุคคลที่ขาดสติและปัญญาในการพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งไม่ต่างจากเด็กไร้เดียงสาไม่สามารถมองเห็นข้อเท็จจริงได้ด้วยปัญญา จึงแสดงอาการตื่นกลัวตามสัญชาตญาณไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ


ตนใช้สีอะคริลิกสดใสและสีสะท้อนแสงคล้ายแสงจากสื่อโฆษณา สร้างรูปทรงและใช้ดินสอสร้างน้ำหนักเพื่อกำหนดทิศทางของแสงและเงา และจัดองค์ประกอบของภาพโดยใช้ทิศทางการมองของดวงตาสัตว์สร้างเส้นเชิงนัยที่มองไม่เห็นไปยังด้านหลัง เพื่ออุปมาอุปไมยและเตือนสติให้คนในสังคมระวังภัยจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เราอาจมองไม่เห็นแต่มีอยู่จริงในสังคมปัจจุบัน

ผศ.ทองไมย์กล่าวอีกว่า ส่วนผลงานจิตรกรรม "น้องต้นหนาวและผองเพื่อน" ที่ได้รับรางวัลชมเชย จากการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 ประจำปี 2566 หัวข้อ "รักโลก" (Cherise The World) นั้น เป็นจิตรกรรม ขนาด 150 x 180 ซม. เทคนิคสีอะคริลิกและดินสอบนผ้าลินิน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิทานเรื่อง “เศษผ้าของคุณยาย” เป็นนิทานที่สอนคติธรรมเรื่อง “การประหยัด” ที่คุณยายสอนหลานให้นำเศษผ้าที่เหลือใช้มาประดิษฐ์ของใช้ได้มากมาย เช่น พรมเช็ดเท้า รองเท้า ผ้าเช็ดมือ ผ้าห่ม ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน เสื้อผ้า ของเล่น และของใช้อื่นๆ เป็นการปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของการประหยัด รู้จักนำสิ่งของเหลือใช้กลับมาใช้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด


ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโลกที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นระบบที่มีแนวคิดในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุดและเกิดของเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานเรื่อง “ความประหยัด” ที่สังคมโลกควรนำมายึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัย “น้องต้นหนาวและผองเพื่อน” เป็นผลงานจิตรกรรมที่มีสีสันสดใส เป็นภาพของน้องต้นหนาว ลูกสาวของตน และเพื่อนๆ ซึ่งหลานๆของตนกำลังเล่นกังหันลมซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาจากวัสดุเหลือใช้ เช่น กระป๋อง ขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ และชุดที่เด็กๆ สวมใส่เป็นชุดสัตว์ที่ประดิษฐ์จากถังน้ำมัน แกลลอนน้ำมันเครื่อง ถังพลาสติก และสิ่งของเหลือใช้อื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการปรับเปลี่ยนขยะที่เป็นพิษให้กลายมาเป็นของเล่น ของใช้ที่มีประโยชน์ และสะท้อนแง่คิด มุมมอง เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมถึงเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ และคนในสังคมเล็งเห็นคุณค่าของการประหยัดและสร้างจิตสำนึกที่ดีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนในอนาคต ผศ.ทองไมย์กล่าว

ผศ.ทองไมย์  เทพราม   เจ้าของรางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ประเภท จิตรกรรมร่วมสมัย การประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 44 ประจำปี 2566  ในชื่อผลงาน “กระต่ายตื่นตูม”
ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สามารถ จับโจร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประติมากรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ผศ.ทองไมย์ เทพราม ถือได้ว่าเป็นศิลปินระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งเป็นจิตรกรดาวรุ่งรุ่นใหม่ กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังจากการประกวดผลงานในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ก่อนหน้านี้สร้างชื่อเสียงด้วยการคว้ารางวัลใหญ่ติดต่อกันถึง 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ 2020 UOB Painting of the Year. ปี 2563, รางวัลรองชนะเลิศ การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 ปี 2564, รางวัลยอดเยี่ยม การประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 36 ปี 2564 และรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดจิตรกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ 10 ปี 2565

อ.จรงค์  เจริญสุข เจ้าของรางวัลชมเชย การประกวดจิตรกรรมเอเชียพลัส ครั้งที่ 11 ประจำปี 2566

ผศ.ทองไมย์ เทพราม

ผลงาน “กระต่ายตื่นตูม”









ผลงาน น้องต้นหนาวและผองเพื่อน











ผลงาน “กำเนิดแว่นตรวจจับเชื้อไวรัส”


กำลังโหลดความคิดเห็น