xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคลังภูมิปัญญาสล่า “พุทธศิลป์วัดแสงดาว” ศูนย์เรียนรู้เชิงช่างพื้นถิ่นภูเพียงสู่พื้นที่สร้างสรรค์น่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน - เปิดคลังภูมิปัญญาพื้นบ้าน “พุทธศิลป์วัดแสงดาว”...อพท.พร้อมหน่วยงานภาคี ร่วมหนุนต่อยอดจากศูนย์เรียนรู้เชิงช่างพื้นถิ่นภูเพียง ที่ยึดโยงวัดกับชุมชนมายาวนาน 79 ปี-ถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ผ่านเวทีเวิร์กชอปกลางลานวัด เดินหน้าสู่พื้นที่สร้างสรรค์น่าน


“วัดแสงดาว ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง” เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจังหวัดน่าน สร้างขึ้นโดย “ครูบาอินต๊ะ” ซึ่งได้ชื่อเป็นครูบามหาป่าเมื่อปี พ.ศ. 2490 เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านแสงดาว ยึดโยงวัดกับชาวบ้านอย่างเหนียวแน่น มายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กว่า 76 ปี

โดยเฉพาะด้านองค์ความรู้ ภูมิปัญญางานฝีมือเชิงช่างพุทธศิลป์ของกลุ่มช่างศิลป์ท้องถิ่นและครูช่าง หรือที่ชาวเหนือเรียกกันว่า "สล่า" มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้-ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ในอดีตนั้น “กลุ่มช่างพุทธศิลป์” เป็นผู้ที่มีทักษะสูง เป็นงานที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันกลับเลือนรางหายไปตามกาลเวลาและยุคสมัย กลุ่มช่างศิลป์มีน้อยลงและซ่อนตัวทำงานเงียบๆ ในหมู่บ้าน องค์ความรู้และภูมิปัญญา ก็เสี่ยงที่จะหายไปกับครูช่างทั้งหลาย หากไม่ได้มีการบันทึกหรือถ่ายทอดไว้


พระมหาธนพล ธมฺมพโล เจ้าอาวาสวัดแสงดาว และประธานกลุ่มพุทธศิลป์น่าน ที่คนน่านรู้จักและเรียกขานกันว่า "พระอาจารย์มหาโล่" แกนหลักสำคัญที่ทำให้เกิด "ศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์วัดแสงดาว" ซึ่งใช้พื้นที่ของวัด เป็นพื้นที่เรียนรู้และรวบรวมภูมิปัญญางานช่างพุทธศิลป์เมืองน่าน ทั้งงานไม้ งานปูนปั้นสด งานลงรักปิดทอง ภายใต้ความมุ่งหวังให้เกิดการฟื้นฟูและอนุรักษ์สืบสานงานช่างพุทธศิลป์ให้คงไว้เป็นมรดกของชาวเมืองน่าน

จากความตั้งใจและทุ่มเทของพระมหาโล่ ได้ดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาร่วมพัฒนาศูนย์แห่งนี้ ทั้งจากการขับเคลื่อนสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ของโครงการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ TASSHA (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โครงการฐานข้อมูลพุทธศิลป์ เครื่องเงินและหัตถกรรม การฝึกอบรมช่างศิลป์ และการจัดตั้งหอจดหมายเหตุขององค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน

สอดคล้องกับโครงการช่างศิลป์ของสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และโครงการจัดทำหลักสูตรมรดกวัฒนธรรมงานหัตถกรรมพื้นถิ่นน่าน เพื่อขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยมีศูนย์น่านศึกษา หออัตลักษณ์นครน่าน วิทยาลัยชุมชนน่าน เป็นหน่วยประสานและร่วมดำเนินการในฐานะสถาบันการศึกษา

การเติบโตของศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์วัดแสงดาว ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดงานวิจัยและกลายเป็นคลังความรู้ด้านพุทธศิลป์ เครื่องเงิน ผ้าน่าน และดนตรีพื้นบ้าน จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นหลักสูตรพุทธศิลปกรรมท้องถิ่นน่าน


ได้แก่ แกะสลักพระพุทธรูปไม้ งานปูนปั้นสด การลงรักปิดทอง คัมภีร์ใบลาน งานปักผ้าหน้าหมอน เกิดกิจกรรมเวิร์กชอปฝึกทักษะและเรียนรู้งานเชิงช่างศิลป์ ถ่ายทอดไปสู่ผู้คนที่สนใจกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มช่างฝีมือ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มพระสงฆ์ สามเณร และผู้ที่สนใจงานช่างฝีมือ

มีการเปิดพื้นที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ เกิดการรวมตัวของกลุ่มช่างศิลป์แขนงต่างๆ กิจกรรมเวิร์กชอปฝึกทักษะ เกิดแรงบันดาลใจและไอเดียสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ที่ต่อยอดมาจากฐานภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยผลงานส่วนหนึ่งถูกรวบรวมและแสดงไว้ที่หออัตลักษณ์นครน่านด้วย


นางสาวอภิญญาตา ทนะขว้าง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ผู้ที่ชื่นชอบและศึกษาการวาดภาพจิตรกรรมมาโดยตลอด ได้เรียนรู้การวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างน่าน จากศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์วัดแสงดาว หลักสูตร 1 เดือนเต็ม เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยฝึกวาดตั้งแต่เริ่มต้นลงลายเส้น จนถึงการลงสีธรรมชาติ ทำกาวมะขามผสมดินสอพอง รองพื้นเฟรมสำหรับวาดภาพ ศิลปะสกุลช่างน่านแบบโบราณดั้งเดิม จากภูมิความรู้ สู่การฝึกฝน วันนี้สามารถวาดภาพจิตรกรรมได้อย่างสวยงาม สิ่งสำคัญคือการได้ซึมซับองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่หาเรียนได้ยาก ยิ่งวาดไปเรียนรู้ไป ก็ยิ่งรู้สึกอินกับงานภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังและงานสกุลช่างน่าน


ในอนาคต..เธอมุ่งหวังให้งานวาดภาพจิตรกรรมของตน มีคนชื่นชอบและยอมจ่ายเพื่อได้เป็นเจ้าของ ถึงแม้ไม่ได้หวังให้ถึงกับเป็นอาชีพหรือสร้างรายได้ แต่ก็อยากให้ภาพวาดของตัวเองขายได้ โดยพี่ๆ ที่ไปเรียนพร้อมกันในหลักสูตรนี้ สามารถขายภาพวาดของตัวเองกันได้แล้วด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น