โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14 “The Legendary of Thai Artisans ตำนานแห่งช่างฝีมือไทย” ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมของไทย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมการจัดกิจกรรม เพื่อยกย่องเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ในสาขางานศิลปหัตถกรรมที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ในงานกิจกรรมอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14 “The Legendary of Thai Artisans ตำนานแห่งช่างฝีมือไทย” เพื่อส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือ และองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2566 ณ ฮอลล์ EH 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ดำเนินการสรรหา ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อยกย่องเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่มีการเปิดกว้างในการคัดสรรผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย โดยให้คำนึงถึงความเสมอภาคทางสังคม สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีหลักเกณฑ์ในการสรรหาที่ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ มิติด้านการอนุรักษ์สืบสาน มิติด้านทักษะฝีมือองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มิติด้านการพัฒนา สร้างสรรค์ผลงานเชิงร่วมสมัย และมิติด้านสังคม ในสาขางานศิลปหัตถกรรม 9 สาขา ได้แก่ 1. เครื่องไม้ 2. เครื่องจักสาน 3. เครื่องดิน 4. เครื่องทอ (เครื่องผ้า) 5. เครื่องรัก 6. เครื่องโลหะ 7. เครื่องหนัง 8. เครื่องกระดาษ 9. เครื่องหิน จนได้ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 1 ราย ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 14 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 10 ราย รวมทั้งสิ้น 25 ราย จากงานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูยากในปัจจุบัน อาทิ เช่น เครื่องทอง เครื่องเงินยัดลาย บุดุนโลหะ ผ้าไหมลายโบราณ งานประดับลายปิดทอง งานเครื่องไม้ล้านนาและปราสาทนกหัสดีลิงค์ ว่าวเบอร์อามัส และงานศิลปหัตถกรรมไทยอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งงานศิลปะเหล่านี้ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับ ชุมชน คุณค่าทางสังคม และ มูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้อย่างมหาศาล ซึ่งคาดว่า กิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริม การสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมรูปแบบใหม่ เพื่อต่อยอดพัฒนาในระดับสากล ทั้งในเชิงคุณค่า และเชิงพาณิชย์ต่อไป
“นายกรัฐมนตรี ติดตามการดำเนินงาน และส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเพิ่มคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจ เกิดความภาคภูมิใจแก่คนรุ่นหลัง และเพื่ออนุรักษ์ สืบสาน รักษา พร้อมกันนี้ ได้ส่งเสริมแนวทางให้เกิดการพัฒนาต่อยอด โดยการผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ สู่ความร่วมสมัย สร้างคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติ” นายอนุชา กล่าว