xs
xsm
sm
md
lg

โศกนาฏกรรม STARK ก.ล.ต.-ตลท. สำนักผิดบ้างไหม (จบ) / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแล บริษัทจดทะเบียน และปกป้องผลประโยชน์ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น

แต่ทั้ง 2 หน่วยงานล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการทำหน้าที่ และไม่เคยทบทวนบทเรียนแห่งความล้มเหลว ไม่เคยเปลี่ยนแปลงบทบาทตัวเอง เพื่อป้องกันประชาชนผู้ลงทุนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรในตลาดหุ้นแต่อย่างใด

โศกนาฏกรรมของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เป็นอีกกรณีที่ต้องย้ำถึงความด้านชาในสำนึกความรับผิดชอบ

หายนะใหญ่หลวง และเกิดขึ้นกับนักลงทุนตลาดหุ้นในวงกว้างจาก STARK โดยจนบัดนี้ ทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่รู้ว่า เกิดปัญหาอะไรกับบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ไม่สามารถนำข้อมูลของบริษัทมาเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ไม่มีอำนาจในการกำกับหรือควบคุมทรัพย์สินของประชาชนผู้ลงทุน

และไม่รู้ว่ามีการทุจริตหรือไม่ มีใครไซฟ่อนผ่องถ่ายทรัพย์สินออกไป โดยยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีใดกับผู้บริหารบริษัท

การปล่อยให้คนที่สร้างความเสียหายร้ายแรงกับผู้ถือหุ้น STARK นับหมื่นราย หอบเงินหนีออกนอกประเทศ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงช่องโหว่ของการกำกับดูแล และการด้อยประสิทธิภาพของการทำหน้าที่ปกป้องผู้ลงทุน

ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมทุนและลงทุนใหญ่ที่สุดของประเทศ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม หรือมาร์เกตแคป สิ้นวันที่ 2 มิถุนายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 18.75 ล้านล้านบาท มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP จำนวนผู้ลงทุนเมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน

ดังนั้นการกำกับดูแลการซื้อขายหุ้นให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิยุติธรรมจะต้องเข้มงวด การแก้ปัญหาบริษัทจดทะเบียนที่มีความไม่โปร่งใสต้องเด็ดขาดและฉับไว ถึงลูกถึงคน เพื่อยับยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลามกระจายในวงกว้าง และต้องเร่งดำเนินคดี โดยไม่ปล่อยให้อาชญากรตลาดหุ้นหอบเงินหนีลอยนวล

ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ต้องตระหนักว่า มีภาระอันยิ่งใหญ่ในความรับผิดชอบกับทรัพย์สินมหาศาล ต้องปกป้องประชาชนผู้ลงทุนจำนวนหลายล้านคน และต้องมีความกล้า ไม่กลัวแดดกลัวฝน แต่ต้องทำหน้าที่อย่างเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นขจัดช่องโหว่ที่จะนำไปสู่หายนะของผู้ลงทุน

มีเจตนารมณ์ที่มั่นคงในการกำจัดมิจฉาชีพในตลาดหุ้นให้สิ้นซาก

การปฏิรูประเบียบและกฎเกณฑ์การกำกับดูแลตลาดหุ้นจะต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์จะต้องเสนอขอเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน เพิ่มอำนาจในคำสั่งการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และมีบทลงโทษรุนแรงทางกฎหมาย เพื่อบังคับให้บริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง

รวมทั้งอำนาจในการเข้าควบคุมบริษัทจดทะเบียนที่เกิดปัญหาฐานะและมีเบาะแสการทุจริตภายใน เพื่อรักษาทรัพย์สินของประชาชนผู้ถือหุ้น และสามารถเร่งกล่าวโทษดำเนินคดี สามารถร้องขอต่อศาลห้ามบุคคลที่ถูกกล่าวโทษเดินทางออกนอกประเทศ

ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์อย่ากลัวว่ากฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปจะทำให้บริษัททั่วไปไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ควรกลัวว่า บริษัทเน่าๆ จะสมคบคิดกับบริษัทที่ปรึกษาการเงิน ช่วยกันแต่งงบการเงิน และตบตาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ นำหุ้นเข้ามาปล้นเงินประชาชนผู้ลงทุน

และอย่ากลัวว่า การใช่มาตรการที่เข้มงวด เพื่อกำกับดูแลให้ทุกกิจกรรมและทุกธุรกรรมในตลาดหุ้นเป็นไปด้วยความโปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมจะทำให้นักลงทุนไม่เข้ามาในตลาดหุ้น แต่ควรตระหนักว่า ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้นักลงทุนถูกแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นปล้นจนหมดตัวมากกว่า

ผู้บริหาร ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนที่มีรายเดือนละระดับ 1 ล้านบาท และทำงานไปวันๆ โดยครบวาระ 4 ปี ถ้าเส้นสายไม่ดี กำลังภายในไม่เพียงพอ ไม่ได้ต่ออายุอีกสมัยก็จากไป โดยไม่เห็นผลงานการปกป้องประชาชนผู้ลงทุนอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

โศกนาฏกรรมจากหายนะที่ยังไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงของ STARK เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูและตลาดหุ้นในภารกิจอันสำคัญยิ่ง เพื่อปกป้องประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนหลายล้านคน

ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ได้ตระหนักถึงความล้มเหลวในภารกิจของตัวเองตลอดหรือยัง และคิดจะปรับปรุงแก้ไขบ้างหรือไม่

หรือความรู้สึกด้านชากับโศกนาฏกรรมของ STARK และพร้อมจะทนดูหายนะของประชาชนผู้ลงทุนที่จะเกิดขึ้นซ้ำรอยต่อไป โดยไม่แยแสป้องกันปัญหา

ผู้บริหาร ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ขอแค่นั่งเก้าอี้ตำแหน่งดีๆ กินเงินเดือนสูงๆ ไปวันๆ ปล่อยให้ประชาชนที่พลัดหลงเข้ามาในตลาดหุ้นนับแสนๆ คน ถูกอาชญากรตลาดหุ้นปล้นมาตลอด 48 ปี โดยไม่คิดแก้ไขอย่างจริงจังเสียทีหรือ








กำลังโหลดความคิดเห็น