การรื้อขยะที่ซุกไว้ใต้พรมในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้อำนาจเด็ดขาด สั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit)
และสั่งให้ชี้แจงเกี่ยวกับการขาย ลูกหนี้ รายการบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้องและการรับโอนเงินของกลุ่มบริษัทภายใน 7 วัน และนำส่งสรุปผลการตรวจสอบเพิ่มเติมภายใน 30 วัน โดยเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ก.ล.ต.พบว่า ผู้สอบบัญชีของ STARK ได้ตรวจพบการทำธุรกรรมที่อาจมีความผิดปกติ โดย STARK อยู่ระหว่างให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของงบการเงินรวม
นอกจากนั้น ขอบเขตการตรวจสอบพิเศษที่ผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างการตรวจสอบอาจยังไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปผลกระทบต่อความถูกต้องงบการเงินรวมของ STARK หรือการทำธุรกรรมที่อาจไม่เหมาะสมได้ ก.ล.ต. จึงสั่งให้ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษเพิ่มเติมโดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ special audit
หรือให้ผู้สอบบัญชีรายอื่นที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีหนึ่งในสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ ยกเว้นสำนักงานสอบบัญชีที่เคยเป็นผู้สอบบัญชีของ STARK ในปี 2564 และให้นำส่งรายงานผลการตรวจสอบต่อ ก.ล.ต. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2566
ปัญหาภายใน STARK คงหนักหนาจน ก.ล.ต.ต้องกระโดดลงมากำกับโดยตรง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
เพราะก่อนหน้า บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง มีปัญหาทุจริตภายใน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC หรือหุ้นบริษัท โพลารีส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR แต่ ก.ล.ต.ไม่ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดเข้าไปกำกับในทันที
จนทรัพย์สินของบริษัทถูกผ่องถ่ายออกไปเกือบหมด สุดท้ายบริษัทเหลือแต่ซาก ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนหลายหมื่นคน ต้องหมดเนื้อหมดตัวจากหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ หรือหุ้นอีกนับ 10 ตัวที่การทุจริตภายใน
STARK มีกลิ่นเน่าเหม็นโชยมา นับตั้งแต่ไม่ส่งงบการเงินปี 2565 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดแล้ว แม้จะขอผัดผ่อนอยู่หลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถส่งงบได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะงบการเงินบางรายการ หรือรายการไม่อาจสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้ จนต้องตั้งผู้ตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษเข้าไป
งบการเงิน STARK ไม่น่าจะเพิ่งเกิดปัญหาในปี 2565 แต่อาจเกิดปัญหามาหลายปีก่อนหน้า โดยเฉพาะปี 2564 เพราะ ก.ล.ต.ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญที่จะตรวจสอบพิเศษจะเป็นผู้ตรวจสอบสำนักงาสอบบัญชีขนาดใหญ่แห่งใดก็ได้ ยกเว้นสำนักสอบบัญชีที่เคยเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี STARK ปี 2564
ก.ล.ต.อาจมีปมการสอบบัญชีของผู้ตรวจสอบบัญชี STARK ในปี 2564 และอยู่ระหว่างการตรวจสอบพฤติกรรมผู้ตรวจสอบบัญชี STARK ปี 2564 ว่า มีส่วนรู้เห็นการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นบัญชีดำผู้ตรวจสอบบัญชี หรือบริษัทผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.ตามมา
ส่วนปัญหาภายใน STARK คงมีลักษณะช้างตายทั้งตัว ใบบัวปิดไม่มิด ซึ่ง ก.ล.ต.สั่งจับตายแล้ว และใช้อำนาจเร่งให้บริษัทชี้แจงข้อเท็จจริง เร่งตรวจสอบงบกรณีพิเศษ และขีดเส้นตายการนำเสนอข้อมูลทุกด้านภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 17 พฤษภาคมนี้
STARK อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการทำงานของ ก.ล.ต. โดยเฉพาะการกำกับบริษัทจดทะเบียนที่จะต้องเข้มข้น ฉับไว ถึงลูกถึงคน สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีเบาะแสการทุจริตภายใน การผ่องถ่ายไซฟ่อนทรัพย์สินออก สร้างความเสียหายร้ายแรงให้ประชาชนผู้ลงทุน
ก.ล.ต.ต้องถอดแบบการทำงานของแบงก์ชาติ โดยบริษัทจดทะเบียนแห่งใดที่เกิดปัญหา มีกลิ่นของการโกง และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ลงทุนจะต้องลงไปกำกับดูแลทันที เพื่อหยุดยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลาม
ไม่ใช่ทำงานอืดอาดล่าช้า ไม่กล้าใช้อำนาจ ปล่อยให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนสูบเงินออกจนบริษัทเหลือแต่ซาก เหมือนบริษัจดทะเบียนนับ 10 แห่งในกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงานที่รอถูกตะเพิดพ้นตลาดหุ้น
STARK อาจเป็นอีกมหากาพย์ของการโกง และมีข่าวว่า อดีตผู้บริหารบริษัทฯ บางคน เผ่นหนีออกนอกประเทศไปแล้ว โดยไม่รอให้ถูกแจ้งข้อหา พร้อมกับเงินหลายพันล้านบาท ที่โกยไปจาก STARK
ทิ้งความซวยและความเศร้าไว้ให้นักลงทุนต่างชาติ ธนาคารพาณิชย์ กองทุนทั้งในและต่างประเทศ ผู้ถือหุ้นกู้ และประชาชนผู้ลงทุนกว่า 1 หมื่นราย
คำถามคือ ตัวโกงใน STARK สุดท้ายจะต้องรับกรรมทีก่อไว้หรือไม่ หรือหอบเงินนับพันล้านที่ปล้นจากนักลงทุน ลอยนวลเสวยสุขไปตลอดชาติ