ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตั้งเป้าหมายเข้าเทรดในปีนี้ ระบุเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ หลังกระทรวงการคลังเห็นชอบยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ คาดเสร็จสิ้นก.ย.นี้ พร้อมเผยผลงานปี 65 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,352.5 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม 30.9% มีพอร์ตสินเชื่อ 1.2 แสนล้าน เติบโตเฉลี่ยสะสม 32.7%
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (2 พ.ค.) ธนาคารได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยจํานวนหุ้นที่คาดว่าจะเสนอขายทั้งหมด (รวมหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเติม) ไม่เกิน 347,029,122 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.2 ของจํานวนหุ้นจดทะเบียนและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคาร ภายหลังการท่า IPO รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน
สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ โดยหลักจะนำไปใช้เป็นเงินทุนในการรองรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ และปรับปรุง และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้ธนาคารฯ มีแหล่งเงินลงทุนเพื่อนำไปให้บริการ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นรากฐานของประเทศ
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงการคลังให้ยกระดับสู่ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยธนาคารมีเวลา 1 ปีในการปรับตัวให้ตรงกับเงื่อนไข ซึ่งในราวเดือนกันยายนปีนี้ ขณะที่การเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นคาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายปี หลังจาก ก.ล.ต.ใช้เวลา 150-180 วันในการพิจารณาไฟลิ่ง โดยมีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้
โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารฯ มียอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับและรายได้ดอกเบี้ยที่ยัง ไม่ถึงกำหนดชำระ) อยู่ที่ 121,298.0 ล้านบาท โดยเงินให้สินเชื่อหลักมาจากสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อของ ธนาคารฯ เติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 32.7 ต่อปี ในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565
สำหรับปี 2565 ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,352.5 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 30.9 ต่อปี ในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 และยังมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สำหรับปีเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 18.9 ทั้งนี้ ธนาคารฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ โดยต้นทุนการดำเนินงานส่วนใหญ่ของธนาคารฯ ถูกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้ารายใหม่ และเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ธนาคารฯ มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio) ลดลงโดยตลอดจากร้อยละ 49.9 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 39.5 ในปี 2565
ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) นับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขายหุ้น IPO ในรอบ 10 ปี โดยมุ่งหวังว่าการเข้า จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเสริมให้ฐานเงินทุนของธนาคารฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อเสริม ศักยภาพในการเติบโตของสินเชื่อแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย ภายใต้สภาวะทิศทางอัตราดอกเบี้ยขา ขึ้น และมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องและมูลค่าตลาดให้หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย" นายวิญญู กล่าวทิ้งท้าย
"ตามไลเซนส์ของธนาคารเพื่อรายย่อยปัจจุบันมีข้อจำกัดบางสิ่งในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เช่น การปล่อยกู้ให้ลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กหรือรายกลางที่กลางที่เติบโตขึ้นไม่สามารถทำได้ จึงเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจไป ดังนั้น การยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบก็จะสอดคล้องกับการขยายธุรกิจของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นให้บริการและสนับสนุนกลุ่มลูกค้าเดิมเป็นหลักเช่นเดิม"