ธปท.เผยผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกของปี 2566 โดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบชะลอลงมาโตแค่ 0.5% ด้าน NPL ลดลงเหลือ 2.68% แย้มเร่งหารือโครงสร้างค่าธรรมเนียมกับธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ โดยยึดหลักการมีความเหมาะสม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และต้องส่งเสริมการใช้ Digital Payment รวมถึงต้องคำนึงถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะต้องเข้าถึงบริการทางการเงิน
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบปรับตัวดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสุทธิกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและการนำเงินส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟู้และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติ ประกอบกับกำไรจากสินทรัพย์ทางการเงิน ตราสารอนุพันธ์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิลดลง 4% จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับไตรมาสก่อนมีรายได้พิเศษจากการขายและโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อย แม้ค่าใช้จ่ายสำรองและค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะปรับลดลง
"ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานมาก สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง" ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าว
สำหรับสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2566 ขยายตัว 0.51% ชะลอลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loans) รวมทั้งการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ส่วนสินเชื่อขนาดใหญ่ยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคการเงินและพาณิชย์ รวมทั้งสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล
ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan : NPL หรือ stage 3) ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 498 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.68%
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง และการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่อง ด้านความสามารถในการทำกำไรปรับลดลง แต่ฐานะการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยยังต้องติดตามผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง และบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง
หนี้เสียที่ปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการ ส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ในระบบสถาบันการเงิน และ non bank ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. โดยปัจจุบันอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย
"ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ได้นิ่งนอนใจ บางกลุ่มต้องเข้าไปช่วยเหลือให้ทันก่อนที่ลูกหนี้จะเป็นหนี้เสีย จึงมีมาตรการช่วยเหลือก่อนที่ลูกหนี้จะเป็นหนี้เสีย โดยสัดส่วนหนี้เสียค่อนข้างกระจายตัวในแต่ละสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการส่งทีมเข้าไปคุยกับแบงก์และลูกหนี้ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนมาตรการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยต้องบอกว่าการมีหนี้เสียในธุรกรรมสินเชื่อเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องทำคือการเข้าไปแก้ไขในภาวะที่ลูกหนี้มีการเสื่อมค่าลง" น.ส.สุวรรณี กล่าว
แนวโน้มหนี้เสียได้ผ่านช่วงหนักที่สุด คือ การไม่มีรายได้ของประชาชนมาแล้ว จากนโยบายของรัฐที่พยายามให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่ง ธปท.ไม่ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขหนี้เสียจะเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาได้พยายามดูแลลูกหนี้ที่เดือดร้อน และยังมีศักยภาพในการจ่ายหนี้ได้ แต่ได้รับผลกระทบชั่วคราวอย่างเต็มที่ โดยขอให้เจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ และดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือ แม้มาตรการที่ออกไปอาจจะช่วยไม่ได้ทุกคน แต่ช่วยให้สัดส่วนหนี้เสียไม่ได้สูงขึ้น โดยลูกหนี้ภายใต้มาตรการลดน้อยลงมาก และหลังจากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เชื่อว่าลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้ น.ส.สุวรรณี กล่าว
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องการทบทวนโครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการทบทวนโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งหมด ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมการกดเงินไม่ใช่บัตรด้วย โดยหลักการคือจะต้องมีความเหมาะสม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และต้องส่งเสริมการใช้ Digital Payment รวมถึงต้องคำนึงถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะต้องเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาไว้แต่อย่างใด