สมาคมสังหาริมทรัพย์ไทยขอรัฐบาลใหม่ดำเนินการ 3 เรื่อง เร่งประกาศใช้ผังเมืองใหม่ แก้ปัญหาดอกเบี้ยช่วยบ้านระดับกลาง-ล่าง แก้ปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อสูงเพิ่มโอกาสคนระดับกลาง-ล่างมีบ้าน สมาคมอาคารชุดไทยแจงอยากเห็นรัฐบาลใหม่กระตุ้นส่งออก เร่งจัดทำงบประมาณให้ทันการเบิกจ่ายปีหน้า เสนอขยายมาตรการส่งเสริมต่างชาติซื้อที่พักอาศัยครอบคลุมกล่มที่อยู่อาศัย 3-5 ล้านบาท ด้าน ส.ธุรกิจบ้านจัดสรร แนะกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนปรับค่าแรง อย่างสร้างความขัดแย้งเพิ่ม
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องการเห็นรัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการในทันทีคือการเร่งดำเนินการเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณและตั้งงบประมาณในปี 2567 เพื่อให้ทันกับการใช้งบประมาณในปีหน้า ส่วนแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คือ การแก้ปัญหาและส่งเสริมด้านการส่งออก เนื่องจากขณะนี้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาดีมานด์ในตลาดโลกที่ลดลง ทำให้ยอดการส่งออกลดลงไปด้วย โดยรัฐบาลไทยควรจะมีการเจรจาข้อตกลง FTA ให้มีมากขึ้นจากเดิม เนื่องจาก FTA เดิมของรัฐบาลที่เซ็นไว้มีน้อยฉบับเกินไปทำให้เสียเปรียบเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ
สำหรับการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศนั้นอยากให้รัฐบาลแก้ไขในเรื่องของการให้วีซ่าสำหรับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย โดยขยายกลุ่มนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่จะได้รับประโยชน์จากการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยให้ครอบคลุมกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคา 3 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท จากเดิมที่อนุมัติให้วีซ่าระยะยาว 5-10 ปี กลุ่มเศรษฐีผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้มีศักยภาพสูงที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มดังกล่าวส่งผลกระทบด้านบวกต่อธุรกิจอสังหาฯ ค่อนข้างช้า
ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 3-5 ล้านบาท จะส่งผลบวกกับตลาดอสังหาฯ ได้อย่างรวดเร็ว โดยรัฐสามารถส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการซื้อที่อยู่อาศัยของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคา 3 ล้านบาท ด้วยการอนุมัติวีซ่า 3 ปี และกลุ่มที่ซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาท5 ล้านบาท การอนุมัติวีซ่า 5 ปี
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้วยังใช้วิธีประชานิยมเท่ากับเป็นการรีดภาษามากกว่าลดภาษี ดังนั้น หากเป็นไปได้อยากให้ช่วยดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (กทม.) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จากเดิมที่เคยตั้งเป้าว่าจะประกาศใช้ในช่วงปลายปี 2563 ก่อนขยับมาเป็นปี 2564 แต่สถานการณ์ต่างๆ ทำให้ต้องเลื่อนการประกาศใช้ไปอีกประมาณ 2 ปี ซึ่งมองว่าล่าช้า เพราะการซื้อที่ดินย่านชานเมืองกรุงเทพฯ นั้นมีผลต่อการพัฒนาที่เอื้อกับแนวรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ เป็นอย่างมาก เพราะผังเมืองรวม กทม.ฉบับเดิมนั้นคงไม่เอื้อในการดำเนินธุรกิจที่อยู่อาศัย
“มองว่าหากผังเมืองรวมฉบับใหม่มีการประกาศใช้เกรงว่าจะเป็นการเอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่เช่นเดิม และหากจะสั่งให้แบงก์ช่วยปล่อยกู้สินเชื่อคงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งมองว่าสถานการณ์สถาบันการเงินโลกยังไม่หมดวิกฤต โดยจะมีแบงก์ระดับกลางล้มอีกอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้สถานการณ์แบงก์เป็นเหมือนกันทั่วโลก” นายพรนริศ กล่าว
2.เรื่องอัตราดอกเบี้ย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการระดับกลาง-เล็กเป็นอย่างมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการายใหญ่กลับมียอดขายที่เติบโตกันแทบทั้งสิ้น หากนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหากลุ่มบ้านระดับกลาง-ล่างให้ได้ เพราะปัจจุบันราคาที่ดินปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถาบันการเงินไม่ค่อยรองรับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มองไม่เห็นปัจจัยที่จะเอื้อการพัฒนาบ้านระดับกลาง-ล่างแต่อย่างใด ส่วนที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่างที่พัฒนาเพื่อให้เช่า บนที่ดินของหน่วยงานภาครัฐมองว่ากฎหมายในปัจจุบันยังไม่เอื้อในการพัฒนาแต่อย่างใด
“อสังหาฯ เปรียบเสมือนอ่างใบใหญ่ 1 ใบ เมื่อผู้ประกอบการต่างเบ่งยอดขายกันทั้งหมด แต่อ่างมีขนาดเท่าเดิม ทำให้ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กตายกันหมด เพราะแบงก์ยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเหมือนเดิม ขณะเดียวกันราคาที่ดินและค่าก่อสร้างแพงขึ้น แต่รายใหญ่กลับมีผลประกอบการเติบโตขึ้นทุกราย” นายพรนริศ กล่าว
3.เรื่องบ้านระดับกลาง-ล่าง ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่าง แค่เพียงหลักร้อยเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่แม้จะมีพัฒนากันบ้างแต่ไม่สามารถทำยอดขายได้มาก เพราะมียอด Reject มาก ทำให้หลายรายหันไปพัฒนาบ้านราคาสูงกันมากขึ้น เพื่อรักษายอดขายของตนเองเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ดีมานด์บ้านระดับกลาง-ล่างยังมีมากอยู่ ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ต้องมองโอกาสของคนอยากมีบ้านให้มีบ้านมากขึ้น มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาอย่างรุนแรงแน่นอน ซึ่งจะต้องแก้ไขกฎหมายอีกมาก หากจะมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินการเพียงองค์กรเดียว มองว่ากลไกในการดำเนินการคงเป็นในรูปแบบเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
“ปัจจุบันกลุ่มผู้สูงวัยเริ่มมีมากขึ้น ขณะที่วัยหนุ่มสาวเริ่มน้อยลง ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยากมีที่อยู่อาศัย แต่กลับไม่อยู่ในฐานภาษี เพราะส่วนใหญ่ไปเป็นสตาร์ทอัป และไม่ทำงานประจำ แม้มีปัญหาซื้อที่อยู่อาศัย แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ของแบงก์ หากจะรอรับมรดกจากกลุ่มผู้สูงวัยคงต้องรอให้กลุ่มพวกนี้เสียชีวิตไปก่อน ซึ่งหากจะรอมรดกด้านที่อยู่อาศัยคงต้องให้มีผู้สูงอายุเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงจะเพียงพอการอยู่อาศัย โดยที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มที่มีปัญญาซื้อที่อยู่อาศัยและมีฐานภาษีนั้นมีแค่ 3-4 ล้านคนเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการทุกรายต่างหันมาแย่งชิงเค้กกลุ่มนี้กันหมด และในกลุ่มพวกนี้บางคนมีบ้านหลังแรกอยู่แล้ว ส่งผลให้รายใหญ่หันไปจับลูกค้าต่างชาติกันมากขึ้น และปัญหานอมินี การขายชาติตามมาอีก ซึ่งพรรคไหนที่จะสนับสนุนธุรกิจอสังหาฯ ต้องรับหอก รับดาบตรงนี้แน่นอน ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่ต้องมองถึงการเพิ่มโอกาสของคนอยากมีที่อยู่อาศัยด้วย” นายพรนริศ กล่าว
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสร กล่าวว่า มีโอกาสค่อนข้างมากที่ฝ่ายค้านจะกลับมาเป็นรัฐบาล และได้มาแสดงฝีมือ แต่ใครก็ตามเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลอย่าให้มีความขัดแย้งเพิ่มเติม เพราะประเทศไทยต้องเดินไปด้วยกัน อยากให้ดูนโยบายให้รอบคอบ ดูภาพใหญ่ก่อนว่าจะเดินหน้าเศรษฐกิจอย่างไร เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้ดีมากนัก เช่น ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 330 บาท/วัน ซึ่งต้องดูว่าจะช่วยหรือจะถ่วง เพราะการขึ้นค่าแรงมีผลกระทบแน่นอน เพราะค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขึ้นแน่นอน ดังนั้น จึงอยากให้ทำภาพใหญ่เศรษฐกิจให้ชัดเจน ซึ่งต้องตั้งทีมเศรษฐกิจ และมีนโยบายให้ชัดเจนก่อน